การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่ โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ได้แก่ ด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและผลกระทบ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 2 คน ครู จำนวน 19 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่ สังกัดเทศบาลนครเชียงราย รวมทั้งหมด 28 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ครั้งนี้ ใช้วิธีการหากลุ่มตัวอย่างตามxxxส่วนแบบง่าย ของประชากรตามรูปแบบของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) จากนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนในแต่ละระดับของชั้นประถมศึกษา ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นักเรียน จำนวน 169 คน และผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 169 คน ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่ สังกัดเทศบาลนครเชียงราย รวมทั้งหมด 338 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินโครงการโดยสอบถามทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและผลกระทบ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ได้จากการวิเคราะห์แบบประเมินโครงการ ใช้คะแนนการประเมินแต่ละข้อ นำมาแปลความหมายข้อมูลโดยวิเคราะห์เป็นตัวเลข ส่วนแบบสัมภาษณ์ นำมาวิเคราะห์ข้อมูลแบบความเรียง ปรากฏผล ดังนี้
1. ด้านบริบท จากผลการประเมิน สรุปผลการประเมินได้ว่า โครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก โครงการกำหนดวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของโรงเรียน สอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและแผนพัฒนาการศึกษาของชาติ ตรงกับความจำเป็นกับสภาพปัญหาของนักเรียนในปัจจุบัน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า สรุปผลการประเมินได้ว่า ภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก ผู้บริหารและครูมีความคิดเห็นว่า โรงเรียนมีการให้ความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ครูที่รับผิดชอบในการดำเนินงานมีจำนวนเพียงพอ มีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงาน งบประมาณ มีเพียงพอต่อการดำเนินการ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงานมีความเหมาะสม ปฏิทินการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนด โรงเรียนมีการบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่มีประสิทธิภาพ
3. ด้านกระบวนการ จากผลการประเมิน สรุปผลการประเมินได้ว่า ภาพรวมอยู่ในระดับ ดีมาก ผู้บริหารและครูมีความคิดเห็นว่า โรงเรียนได้ดำเนินการตามปฏิทินการดำเนินการ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ มีการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ครู บุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในวางแผนการดำเนินงานทุกกิจกรรมและเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด มีการประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงานของ โครงการและนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
4. ด้านผลผลิต จากผลการประเมิน สรุปผลการประเมินได้ว่า ภาพรวมอยู่ในระดับดีมากผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความคิดเห็นว่า นักเรียนได้รับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ตามแนวทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
5. ด้านผลกระทบ จากผลการประเมิน สรุปผลการประเมินได้ว่า ภาพรวมอยู่ในระดับ ดีมาก ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน มีความคิดเห็นว่า นักเรียนมีพฤติกรรมในเชิงบวก เกิดกระบวนการพัฒนางานกิจกรรมนักเรียนที่เป็นรูปแบบใหม่เชิงสร้างสรรค์ ผู้ปกครอง ชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาได้รับประโยชน์จากโครงการในการร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน