รายงานผลการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียน
ชื่อเรื่อง รายงานผลการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านใหม่ ปีการศึกษา 2560
ผู้ศึกษา นายนพนันท์ ขัดเงางาม
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อศึกษาผลการบริหารแบบมีส่วนร่วม และเพื่อประเมินความพึงพอใจและความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและที่ปรึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนและศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านใหม่ ที่มีต่อการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านใหม่ ปีการศึกษา 2560 ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ ครูจำนวน 6 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและที่ปรึกษา จำนวน 14 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 30 คน ชุมชนและศิษย์เก่าโรงเรียน จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ คู่มือการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านใหม่ และแบบสอบถามความพึงพอใจและแบบสอบถามความคิดเห็นที่ได้สอบถามในเรื่องดังกล่าวข้างต้น นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้
1.ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านใหม่ มีกระบวนการสำคัญ 4 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ได้ดำเนินการตามคู่มือการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านใหม่ ใน 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและที่ปรึกษาในการร่วมบริหารจัดการ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนในการดูแลนักเรียน และยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครูในการนิเทศแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาวิชาชีพครู ขั้นตอนที่ 3 การติดตามตรวจสอบ และขั้นตอนที่ 4การนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนา
2.ผลการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านใหม่ ปรากฏผลการดำเนินงานดังนี้ นักเรียนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยรวมสูงขึ้น ครูสามารถใช้สื่อประกอบการสอนทำให้การเรียนการสอนสนุก มีประสิทธิภาพ ครูได้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของนักเรียนและผู้ปกครอง ครูได้รับรางวัลดีเด่นด้านต่างๆโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่หลากหลายและเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนได้รับการยอมรับจากชุมชนทำให้ชุมชมมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมรับรู้ปัญหาของนักเรียนและหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน ชุมชนเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง ให้การยอมรับและมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน ทำให้ชุมชนเกิดเจตคติที่ดีต่อโรงเรียน
3.ผลการประเมินความพึงพอใจและความคิดเห็นของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและที่ปรึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนและศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านใหม่ ด้านการบริหารจัดการและการให้บริการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ด้านการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และด้านความสำเร็จของการดำเนินงาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหาที่พบ ส่วนน้อยได้เสนอถึงความรวดเร็วในการให้บริการและได้เสนอแนะควรจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน และชุมชน