การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
ผู้วิจัย นางมยุรี ฟักฟูม
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 38 คน โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ รูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา แบบวัดจิตวิทยาศาสตร์และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ตามแนวรูปแบบการเรียนการสอนสอนวิชาวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าสถิติที แบบไม่เป็นอิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชา
วิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และนักเรียน พบว่า โดยภาพรวม มีความต้องการในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกำหนดปัญหา การสืบค้นข้อมูล การคิดและแก้ปัญหา ออกแบบการเรียนรู้ดำเนินการทดลองและสรุปด้วยตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาตามลำดับ และการมีจิตวิทยาศาสตร์
2. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีชื่อว่า “GPDR Model ” มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมิน โดยกระบวนการการจัดการเรียนรู้ประกอบด้วย 4 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 จุดประกายความคิด ค้นพบปัญหา (G ) ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมการเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับปัญหา (P) ขั้นที่ 3 พัฒนาการเรียนรู้ วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา (D) และขั้นที่ 4 ขั้นสะท้อนผลการเรียนรู้ ติดตามและประเมินผลการแก้ปัญหา (R) ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 82.51/81.42 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
3. ผลการทดลองใช้ รูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
3.1 ผลการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างหาประสิทธิภาพรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.23/82.57 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
3.2 หลังเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ (GPDR Model) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3 หลังเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ (GPDR Model) นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.4 หลังเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ (GPDR Model) นักเรียนมีจิตวิทยาศาสตร์ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ (GPDR Model) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด