รายงานการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้
อย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย : นางมยุรี เสนไสย โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ปีการศึกษา : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/3 ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม จำนวน 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้ คู่มือการใช้รูปแบบ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย (X ̅) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่า t-test dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวจารณญาณสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีชื่อว่า “DEICP Model” มี 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ เน้นพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เน้นพัฒนาทักษะการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาสาระ 2) วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการสร้างความรู้ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) กระบวนการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหา (Defining Problems: D) ขั้นที่ 2 ค้นหาความจริง (Exploring Facts: E) ขั้นที่ 3 สร้างองค์ความรู้ (Implementation: I) ขั้นที่ 4 เรียนรู้ร่วมกัน (Cooperative Learning: C) ขั้นที่ 5 สร้างสรรค์สู่สังคม (Presentation: P) 4) การวัดและประเมินผล มี 2 ด้านคือ ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและด้านความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 5) เงื่อนไขในการนำรูปแบบไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีความรู้ความเข้าใจรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎี แนวคิด ผู้เรียนต้องเข้าใจบทบาทของตนเองในการสร้างความรู้ด้วยตนเอง พบว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 92.75/85.85
2. การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ในภาพรวม อยู่ในระดับ พึงพอใจมากที่สุด (X-bar = 4.71, S.D. = 0.46)