เรื่อง ผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ
ชื่อเรื่อง : รายงานเรื่อง ผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ด้วยการจัด
กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาล
ปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
แม่ฮ่องสอน เขต 1
ชื่อผู้ศึกษา : นางกาญจนา มูลคำ
ปีการศึกษา : 2560
ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงทดลอง (Expert menial design) โดยทดลองกลุ่มเดียว ศึกษาตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการทดลอง ในการศึกษาทดลองผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ด้วยการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 จำนวน 28 คน ในปีการศึกษา 2560 มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อศึกษาผลของการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ของเด็กปฐมวัย ระหว่างการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป และเพื่อศึกษาผลการเปรียบเทียบพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ของเด็กปฐมวัย ระหว่างการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป ทั้งรายด้านและภาพรวม โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ คู่มือการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป แผนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป และแบบสังเกตพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 การดำเนินการโดยการสังเกตพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือก่อนเป็นการประเมินก่อนการดำเนินการดำเนินงาน จากนั้นก็ดำเนินการตามแผนการจัดกิจกรรมจนครบ 30 แผน โดยใช้เวลา 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน ระหว่างการจัดกิจกรรมก็มีการประเมินพฤติกรรมตามแผนเพื่อต้องการทราบผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมด้านความร่วมมือของเด็กปฐมวัยทั้ง 4 ด้านพร้อมภาพรวม เมื่อเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรมตามแผนแล้วก็มีการประเมินผลอีกครั้ง ด้วยเครื่องมือเดียวกันกับก่อนการจัดกิจกรรม และมีการเก็บรวบรวมผลการประเมินก่อน-ระหว่าง-หลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป มาวิเคราะห์โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือค่าเฉลี่ย (μ)ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(σ)และค่าร้อยละก้าวหน้า จากการศึกษา สรุปผลการศึกษาไว้ดังนี้
1. ผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ของเด็กปฐมวัย ทั้งรายพฤติกรรมและภาพรวม ด้วยการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป ปรากฏว่า มีผลพัฒนาดีขึ้นทุกพฤติกรรม ได้แก่ พฤติกรรมด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น การช่วยเหลือแบ่งปัน การปฏิบัติตามข้อตกลง และการยอมรับความคิดเห็นและการกระทำของผู้อื่น ดีขึ้นส่วนใหญ่ทุกช่วงสัปดาห์ (สัปดาห์ที่1-10) โดยเริ่มต้นในการจัดกิจกรรมผลประเมินพฤติกรรมอยุ่ในระดับปรับปรุงทั้งหมด (1.31, 1.33, 1.17, 1.20 และ 1.25 ตามลำดับ) เมื่อจัดกิจกรรมครบถ้วนถึง 30 แผน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ผลการประเมินพฤติกรรมดีขึ้น อยู่ในระดับดีทุกพฤติกรรมและภาพรวม (3.00, 3.00 3.00 2.98 และ 3.00 ตามลำดับ) มีเพียงพฤติกรรมการยอมรับความคิดเห็นและการกระทำของผู้อื่น ผลการพัฒนาพฤติกรรมมีการคงที่ (สัปดาห์ที่ 5,6) ที่ระดับ พอใช้ (2.39) แสดงว่า การพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือของเด็กปฐมวัยทั้งภาพรวมและรายพฤติกรรมด้วยการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป มีผลทำให้พฤติกรรมทางสังคมด้านความร่วมมือ ดีขึ้นทุกช่วงสัปดาห์ ระหว่างมีการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป
2. ผลการเปรียบเทียบพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป พบว่า คะแนนพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ก่อน – หลัง การจัดกิจกรรมมีความแตกต่างกันในทางที่ดีขึ้นทุกพฤติกรรมและภาพรวม ได้แก่ พฤติกรรมด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น การช่วยเหลือแบ่งปัน การปฏิบัติตามข้อตกลง และการยอมรับความคิดเห็นและการกระทำของผู้อื่น เริ่มจากก่อนจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ของเด็กปฐมวัยได้คะแนนอยู่ในระดับปรับปรุง (1.40, 1.13, 1.57, 1.36 และ 1.36 ตามลำดับ) มีเพียงพฤติกรรมเดียวที่ผลประเมินอยู่ในระดับพอใช้ (1.57) หลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป แล้วมีการประเมินพฤติกรรมอีก ผลการประเมินอยู่ในระดับดีทุกพฤติกรรม (2.86, 2.93, 2.89, 2.96 และ 2.91 ตามลำดับ) มีคะแนนก่อนและหลังแตกต่างกันในทางที่ดีขึ้นทุกพฤติกรรม (1.46, 1.80, 1.32, 1.61, และ 1.55 ตามลำดับ) คิดเป็นร้อยละความก้าวหน้า 48.57, 60.12, 44.05, 53.57 และ 51.79 ตามลำดับ แสดงว่า ผลการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ด้านความร่วมมือ ของเด็กปฐมวัย ด้วยการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตามแนวความคิดไฮ-สโคป ทำให้พัฒนาการดีขึ้น หรือมีความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการจัดกิจกรรม