การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้ากระแส
ผู้วิจัย นายพฤทธิ มาเนตร
ปีที่วิจัย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้ากระแส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตามเกณฑ์ 75/75 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์ และเจตคติต่อการเรียนวิชาฟิสิกส์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้ากระแส กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดบำรุงธรรม) เทศบาลเมืองสระบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ที่ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา จำนวน 3 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์ และแบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิชาฟิสิกส์ ใช้เวลาจำนวน 22 ชั่วโมง แบบแผนการศึกษาเป็นแบบ One-Group Pretest-Posttest Design สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐานใช้สถิติ คือ t-test for Dependent Samples
ผลการวิจัย พบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้ากระแส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 77.19/75.94 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 75/75
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้ากระแส สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. เจตคติต่อการเรียนวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้ากระแส สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05