เผยแพร่ผลงาน
DEVELOPMENT OF THE PRACTICE PACKAGE OF THE READING AND CREATING CONSONANT WORDS BASED ON BRAIN - BASED LEARNING (BBL) FOR GRADE 1 OF TASSABAN 1 WATPHRANGAM (SAMAKKEEPITTAYA) SCHOOL
ณัฐชยานันต์ ทองธรรมจินดา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดฝึกอ่านและต่อคำคล้องจองตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านคำคล้องจองของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึก และเปรียบเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 80 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านการต่อคำคล้องจองของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึก และเปรียบเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 80 และ 4) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อชุดฝึก กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล ๑ วัดพระงาม (สามัคคีพิทยา) จำนวน 24 คน ที่ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้ที่ 12 เรื่อง คำคล้องจอง จำนวน 17 ชั่วโมง และชุดฝึกอ่านและต่อคำคล้องจอง และ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่านคำคล้องจอง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การต่อคำคล้องจอง แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนต่อชุดฝึก และแบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบที
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดฝึกอ่านและต่อคำคล้องจองตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 88.80/89.39 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านคำคล้องจองของนักเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลสัมฤทธิ์ด้านการต่อคำคล้องจองของนักเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความคิดเห็นของนักเรียนต่อชุดฝึกอ่านและต่อคำคล้องจอง อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : ชุดฝึกอ่านและต่อคำคล้องจอง, การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน