เผยแพร่ผลงานวิชาการ(คุณครูกัญญารัตน์ สุทธิภักดี)
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3.
โรงเรียนเคียนซาพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 11
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนใช้และหลังใช้แบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องความน่าจะเป็น 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องความน่าจะเป็น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเคียนซาพิทยาคม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit) จำนวน 1 ห้องเรียน คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 จำนวน 31 คน ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัย แบบกลุ่มเดียววัดเฉพาะหลังการทดลอง (One group posttest only design) โดยใช้แบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง ความน่าจะเป็น เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย ชุดแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยาเรื่อง ความน่าจะเป็น ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 5 ชุด แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t
ผลการวิจัยพบว่า
1) แบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องความน่าจะเป็นมีประสิทธิภาพ 80.44/83.36 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง ความน่าจะเป็น หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง ความน่าจะเป็น มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด