ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนภาษาอังกฤษด้วยแบบฝึกท
ผู้วิจัย นางพัชรี ดีมา
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) พัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาผลการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนภาษา อังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนจากการใช้ แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผู้วิจัยใช้การวิจัยแบบพหุวิธีโดยดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพบริบท ศึกษากรอบแนวคิด สังเคราะห์และสร้างแบบฝึก ระยะที่ 2 การพัฒนาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 และระยะที่ 3 การศึกษาประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษและศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนจากการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ โดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาบริบท ได้แก่ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” จำนวน 27 คน ได้มาโดย การสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยการเขียนภาษาอังกฤษ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5/7 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” จำนวน 30 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยระยะที่ 2 ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/8 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” จำนวน 34 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยระยะที่ 3 ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” จำนวน 35 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาบริบทแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ แบบสัมภาษณ์สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการทั่วไปในการจัดการเรียนภาษาอังกฤษ จำนวน 1 ชุด แบบวัดความสามารถทางการเขียนแบบอัตนัย จำนวน 1 ข้อ เครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพของแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 และแผนการจัดการเรียนรู้ เป็นแบบตรวจสอบรายการและแบบคำถามปลายเปิด 2) เครื่องมือการวิจัยปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน แบบบันทึกการจัดการเรียนการสอน แบบฝึกหัด แบบวัดความสามารถทางการเขียนภาษาอังกฤษ แบบวัดการใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ และ 3) เครื่องมือหาประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ได้แก่ แบบวัดความสามารถทางการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียน แบบวัดการใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ และแบบสอบถามความพึงพอใจในการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t (t-test)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้น มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 การเชื่อมโยงความรู้ ขั้นที่ 2 การวางแผนการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 การใช้กลวิธีการเรียนรู้ ขั้นที่ 4 การตรวจสอบกำกับติดตามการเรียนรู้ ขั้นที่ 5 การประเมินผล การเรียนรู้
2. ผลการพัฒนาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ นักเรียนทุกคนที่ผ่านการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ โดยใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.21/83.59 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3. ผลการประเมินประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธี การกำกับตนเองในการเรียนรู้นี้ พบว่า นักเรียนทุกคนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนภาษาอังกฤษสูงกว่าร้อยละ 60 คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าคะแนน ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีค่าเฉลี่ยการใช้กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก ผลจากการศึกษาความพึงพอใจจากการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษนักเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด