การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม การเสริมสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้
เพื่อพัฒนาผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับบุคลากรในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้พัฒนา : มุนินทร มาตมุงคุณ
ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2
ปีที่ทำวิจัย : 2560
ประเภทผลงาน : วิจัยและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม(Research and Development of Training Curriculum)
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม การเสริมสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับบุคลากรในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรฝึกอบรม เป็นการเขียนโครงร่างหลักสูตรให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยประยุกต์แนวคิดการจัดการศึกษาเน้นสมรรถภาพและประยุกต์แนวคิดจัดกระบวนการเรียนรู้ของคอล์บ 4 ขั้น คือ
การสร้างประสบการณ์ (Experience) การคิดไตร่ตรอง (Reflecting) การลงข้อสรุป (Concluding) และการวางแผน (Planning) ได้องค์ประกอบของหลักสูตร คือ ความเป็นมาของหลักสูตรฝึกอบรม หลักการของหลักสูตรฝึกอบรม จุดมุ่งหมายของหลักสูตรฝึกอบรม หัวข้อวิชาการหลักสูตรฝึกอบรม โครงสร้างของหลักสูตรฝึกอบรม แนวทางการฝึกอบรมและรูปแบบการฝึกอบรม สื่ออุปกรณ์ การฝึกอบรม การวัดและประเมินผลการฝึกอบรม คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม คุณสมบัติวิทยากรดำเนินการฝึกอบรม แนวทางการสรุปและจัดทำรายงานผลการฝึกอบรม พร้อมทั้งเอกสารประกอบหลักสูตรฝึกอบรม ได้แก่ คู่มือหลักสูตรสำหรับผู้ให้การฝึกอบรม คู่มือหลักสูตรสำหรับ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม จากนั้นนำโครงร่างหลักสูตรไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน พิจารณาประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้อง พบว่า ทุกองค์ประกอบของหลักสูตรมีความเหมาะสมและความสอดคล้องกันทุกประเด็น และเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้หลักสูตรในสถานการณ์จริง ตลอดจนศึกษาปัญหาและอุปสรรคระหว่างการใช้หลักสูตร ได้นำหลักสูตรฝึกอบรมไปทดลองศึกษานำร่อง( Pilot study ) กับบุคลากรในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 20 คน ได้ผลสรุปว่าหลักสูตรมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรม เป็นการนำหลักสูตรไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นบุคลากรในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2 จำนวน 40 คน ใช้ระยะเวลาทดลอง 4 วัน โดยใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียวทำการทดสอบก่อนและหลังทดลองใช้หลักสูตร และทดสอบหลังใช้หลักสูตรเปรียบเทียบกับเกณฑ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน และสถิติอ้างอิง t- test Dependent และ t- test one Sample พบว่า ความสามารถการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 หลังทดลองใช้หลักสูตรสูงกว่าก่อนทดลองใช้หลักสูตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าเฉลี่ยคะแนนด้านความรู้ ความเข้าใจ มีประสิทธิผลสูงกว่าเกณฑ์ 70 ค่าเฉลี่ยคะแนนด้านเจตคติและทักษะการปฏิบัติมีประสิทธิผลสูงกว่าเกณฑ์ 3.50 ค่าเฉลี่ยของคะแนนการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับ ดีมาก และค่าเฉลี่ยความเหมาะสมของการใช้หลักสูตรฝึกอบรมอยู่ในระดับมาก
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรม จากผลการทดลองใช้หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ในการประเมินประสิทธิผลของหลักสูตร ผู้รายงานได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร โดยปรับปรุงด้านความเหมาะสมของเนื้อหาและปรับปรุงภาษา
ในแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกัน แล้วจัดทำเป็นหลักสูตร และเอกสารประกอบหลักสูตรฉบับสมบูรณ์ สำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมต่อไป