การพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพ ฯ
หัวข้องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนศรีแก้วพิทยา
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
ผู้วิจัย นายอภิวรุณ โสมมา
หน่วยงานที่รับผิดชอบ โรงเรียนศรีแก้วพิทยา
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนศรีแก้วพิทยา และ 2) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู โรงเรียนศรีแก้วพิทยา ด้วยวิธีการ 2.1) ประเมินสมรรถภาพในการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการของครูผู้นิเทศ 2.2) ประเมินความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้นิเทศ 2.3) ประเมินความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการของครูผู้รับการนิเทศ 2.4) ประเมินสมรรถภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้รับการนิเทศ และ 2.5) ประเมินความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการ วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์ (Analysis) ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนา (Design and Development) ขั้นตอนที่ 3 การนำไปใช้ (Implementation)และ ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผล (Evaluation) ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูและนักเรียนโรงเรียนศรีแก้วพิทยา ประกอบด้วยครูผู้สอน จำนวน 28 คน นักเรียน จำนวน 521 คน กลุ่มตัวอย่าง เป็นครูผู้สอนจำแนกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ละ 2 คน จำแนกเป็นครูผู้นิเทศ จำนวน 5 คน มี 2 คนที่ทำหน้าที่ครูผู้นิเทศและครูผู้รับการนิเทศ ครูผู้รับการนิเทศ 13 คน (ซึ่งครูที่ทำหน้าที่เป็นผู้นิเทศประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายบริหารงานวิชาการและครู) และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2,3,4,5 และ 6 จำนวน 13 ห้องเรียน เลือกโดยการสุ่มแบบอาสาสมัคร (Volunteers Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสารแบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสังเกต และประเด็นสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า Wilcoxon Signed Rank Test
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการนิเทศแบบหลาหลายวิธีการ เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนครูโรงเรียนศรีแก้วพิทยา ชื่อว่า ซีไอพีอี (CIPE) ประกอบด้วย หลักการที่มุ่งเน้นกระบวนการนิเทศที่เป็นระบบ สัมพันธ์กัน คำนึงถึงความแตกต่างของครู ด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะสำคัญที่ต้องการพัฒนา โดยใช้วิธีการนิเทศที่หลากหลาย เหมาะสมกับครูแต่ละคน เพื่อให้การนิเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กระบวนการนิเทศ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่1 Classifying : C การคัดกรองระดับความรู้ ความสามารถ ทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้และการวิจัย ในชั้นเรียน เพื่อจัดกลุ่มครูและเลือกวิธีการนิเทศที่เหมาะสมสำหรับครูแต่ละกลุ่ม ขั้นตอนที่ 2 Informing : I การให้ความรู้ก่อนการนิเทศ ขั้นตอนที่ 3 Proceeding : P การดำเนินงาน ได้แก่ 3.1) การประชุมก่อนการสังเกตการสอน (Pre conference) 3.2) การสังเกตการสอน (Observation) 3.3) การประชุมหลังการสังเกตการสอน ( Post Conference) และ ขั้นตอนที่ 4 Evaluating : E การประเมินผลการนิเทศ โดย มีการกำกับ ติดตาม (Monitoring) อย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินการนิเทศเกิดประสิทธิภาพ และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ พบว่า มีความสมเหตุ สมผลเชิงทฤษฎี ความเป็นไปได้ และความสอดคล้องของรูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการ 2. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการ เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนศรีแก้วพิทยา พบว่า ครูผู้นิเทศมีสมรรถภาพในการนิเทศ แบบหลากหลายวิธีการ อยู่ในระดับสูงมาก และมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการและการวิจัยในชั้นเรียน ก่อนและหลังการใช้รูปแบบ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศครูผู้รับการนิเทศมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศแบบหลากหลายวิธีการ ก่อนและหลังการใช้รูปแบบ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศ มีสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียน อยู่ในระดับสูงมาก และมีความพึงพอใจของต่อรูปแบบ การนิเทศแบบหลากหลายวิธีการ อยู่ในระดับมากที่สุด