รายงานการพัฒนาชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
ผลงานทางวิชาการฉบับเผยแพร่
เรื่อง
รายงานการพัฒนาชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
รายวิชา ว32222 เคมี 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
นายวิทยา สายไทย
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
โรงเรียนพนาสนวิทยา จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
รายงานการพัฒนาชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
นายวิทยา สายไทย
ทำวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาประสิทธิภาพของชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากการเรียนโดยใช้ชุดการสอน แบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ และ (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนจากชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนพนาสนวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 22 คน ซึ่งได้มาโดย การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 14 ชุด และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน (2) เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่า 0.89 และแบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.34/81.59 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 (2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย และ (3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการเรียนจากชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.13 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.74
2
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ในสังคมโลกปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน การดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ และสิ่งอำนวยความสะดวก ต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องและเป็นผลมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่น ๆ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดองค์ความรู้และความเข้าใจในปรากฏการณ์ ตามธรรมชาติ มีผลทำให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากมาย วิทยาศาสตร์ทำให้คนได้พัฒนาวิธีคิด คิดอย่างมีเหตุผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลาย และประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ วิทยาศาสตร์จึงเป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคม แห่งการเรียนรู้ (Knowledge based Society) ทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific literacy for all) เพื่อที่จะรู้และเข้าใจโลกธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น และนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์และมีคุณธรรม (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546 : 1) วิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สถานศึกษาจะต้อง ใช้เป็นหลักเพื่อสร้างฐานการคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหาของนักเรียน ดังนั้นการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอนทั้งของครูและนักเรียน ครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้บอกเล่า บรรยาย สาธิต เป็นการวางแผนจัดกิจกรรมให้นักเรียน เกิดการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ จะต้องเน้นที่บทบาทของนักเรียนตั้งแต่เริ่ม คือ ร่วมวางแผนการเรียน การวัดผล ประเมินผล กิจกรรมการเรียนรู้ควรเน้นการพัฒนากระบวนการคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ จากแหล่งเรียนรู้อย่างหลากหลาย มีการตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา การมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับข้อมูล ที่สืบค้นได้ เพื่อนำไปสู่คำตอบของปัญหาหรือคำถามต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ ทั้งนี้กิจกรรมการเรียนรู้ต้องพัฒนานักเรียนให้เจริญพัฒนาทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546 : 215-216)
ในด้านการจัดการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ (2551 : 25-26) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ เป็นกระบวนการในการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ ผู้สอนต้องพยายามจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ รวมทั้งเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์พัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ อันเป็นสมรรถนะสำคัญที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนโดยมีหลักการจัดการเรียนรู้ว่า การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้ สมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถพัฒนา ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ต้องเน้นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียน เป็นสำคัญ ผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นเครื่องมือที่จะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายที่หลักสูตรกำหนดไว้ กระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน เช่น กระบวนการเรียนรู้ แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และกระบวนการปฏิบัติ เป็นต้น ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อสามารถเลือกใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3
ในด้านสื่อการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ (2551 : 27) กล่าวว่าสื่อการเรียนรู้เป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดหาสื่อการเรียนรู้ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาขึ้นเอง รวมทั้งใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสม มีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้ และความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน ศึกษาค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพเกี่ยวกับสื่อและการใช้สื่อการเรียนรู้ เป็นระยะ ๆ และสม่ำเสมอ
โรงเรียนพนาสนวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 เปิดทำการสอนในระดับมัธยมศึกษา โดยใช้หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนพนาสนวิทยา พุทธศักราช 2552 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2558 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในการวางแผนดำเนินการ ส่งเสริมสนับสนุน ตรวจสอบ ตลอดจนปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ ที่กำหนดไว้ ในการนี้ผู้รายงานเป็นครูผู้สอนรายวิชาเคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความตระหนัก ถึงการจัดการเรียนรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าการจัดการเรียนรู้เป็นกระบวนการในการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ ผู้สอนต้องพยายามจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ และในด้านการใช้สื่อการเรียนรู้ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าสื่อการเรียนรู้เป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาขึ้นเอง รวมทั้งใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสม มีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้ และความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน มีการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพเกี่ยวกับสื่อและการใช้สื่อการเรียนรู้เป็นระยะ ๆ และสม่ำเสมอ ซึ่งจากข้อคิดดังกล่าวทำให้ผู้รายงานเกิดความตั้งใจในการจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมีให้มีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้บรรลุตามจุดหมายของหลักสูตร และเป้าหมาย ที่สถานศึกษากำหนด ดังนั้นผู้รายงานจึงวิเคราะห์สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้รายวิชา ว32222 เคมี 5 เพื่อให้ทราบถึงปัญหา วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาหาแนวทางในการแก้ปัญหาหลาย ๆ แนวทาง และเลือกแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมและเป็นไปได้ซึ่งจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้รายวิชา ว32222 เคมี 5 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 64.82 และนักเรียนขาดความสนใจในการเรียน (วิทยา สายไทย, 2560 : 14) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้คือ ร้อยละ 70 เมื่อวิเคราะห์สาเหตุพบว่าครูจัดการเรียนรู้ตามคู่มือครูและหนังสือเรียนที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งยังขาดการใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ วิชาเคมี จึงมีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำก็คือ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีบทบาทในการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ และปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ที่คงทน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา การทำแบบฝึกหัด และการทำแบบทดสอบได้
4
จากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้รายงานได้ศึกษาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยศึกษาเกี่ยวกับการใช้สื่อการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา โดยศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ซึ่งพบแนวความคิดว่าการจัดการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเองวิธีการหนึ่งก็คือการใช้สื่อประสมที่เรียกว่า “ชุดการสอน (Instruction Package)” ซึ่งจัดเป็นชุดสื่อประสม (Multi Media Set) และเป็นชุดเอกประสงค์คือใช้สอนเพียงเรื่องเดียว โดยมีการผสมสื่ออย่างมีระบบรองรับ มีเนื้อหาครบในตัวเอง ที่ครอบคลุมการสอนของครูได้ครบวงจร ช่วยให้การเรียนการสอน มีประสิทธิภาพ และเน้นการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (วาสนา ทวีกุลทรัพย์, 2551 : 60) ชุดการสอนยังมีคุณค่าหลายประการ เช่น ช่วยให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดเนื้อหาและประสบการณ์ ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสูง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น ฝึกการตัดสินใจแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีความรับผิดชอบ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชุดการสอนได้ผลิตขึ้นโดยมีพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยาซึ่งเป็นการประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งคำนึงถึงความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2543 : 117) นอกจากนี้ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ดี เพราะเป็นการนำนวัตกรรมมาส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น (วรวิทย์ นิเทศศิลป์, 2551 : 267) สอดคล้องกับชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2552 : 441-442) กล่าวว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนมีข้อค้นพบจากการวิจัยสรุปว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอน มีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเด็กเรียนช้า ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชาเรียน และส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดี และสอดคล้องกับแนวคิดของสุนันทา สุนทรประเสริฐ (2547 : 1) กล่าวว่าชุดการสอนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้พัฒนามาจากวิธีการเรียนการสอนหลาย ๆ ระบบเข้ามาประสมประสานกันให้กลมกลืนกันได้อย่างเหมาะสม นับตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเอง การร่วมกิจกรรมกลุ่ม การใช้สื่อในรูปแบบต่าง ๆ มีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ไปทีละน้อย มีโอกาสคิดใคร่ครวญ มีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น ได้ลงมือปฏิบัติ และผู้เรียนมีโอกาส เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จโดยการทราบผลย้อนกลับทันทีหลังจากการทำกิจกรรม นอกจากนี้ ผู้รายงานได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนเพื่อสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวข้างต้น ตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยของศริญญา นามขันธ์ (2552 : 81-90) เรื่องการพัฒนา ชุดการสอนวิชาเคมี เรื่อง โครงสร้างอะตอม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศรีสุขวิทยา จังหวัดสุรินทร์ พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อชุดการสอนในระดับมาก ผลการวิจัยของ พิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียน เรื่อง ธาตุ และสารประกอบ ที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
5
จากความสำคัญของปัญหาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตลอดจนหลักการและเหตุผลดังกล่าว การดำเนินการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้บรรลุเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผู้รายงานมีแนวคิดว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 2 จะสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้บรรลุตามจุดหมายของหลักสูตรและเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดได้ เนื่องจากรายวิชาดังกล่าวกำหนดเนื้อหาวิชาเป็น 2 หน่วยการเรียนรู้คือ หน่วยที่ 1 ปริมาณสัมพันธ์ และหน่วยที่ 2 ของแข็ง ของเหลว แก๊ส ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพบว่า หน่วยที่ 1 ปริมาณสัมพันธ์ มีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 63.44 ซึ่งตำหว่าหน่วยที่ 2 ของแข็ง ของเหลว แก๊ส ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 66.20 (วิทยา สายไทย, 2560 : 14) ดังนั้นผู้รายงานจึงเลือก หน่วยที่ 1 ปริมาณสัมพันธ์ มาเป็นเนื้อหาในการวิจัย โดยทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ รายงานการพัฒนาชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อนำสารสนเทศจากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่อไป
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากการเรียนโดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนจากชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
3. สมมติฐานการวิจัย
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนจากชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
1. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยวิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม ในหน่วยการเรียนรู้อื่น ๆ และระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป
2. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสนใจเรียนและเกิดความพึงพอใจในการเรียนรู้ โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เป็นสื่อในการเรียนรู้ของผู้เรียน
3. เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
6
5. วิธีการดำเนินการวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงการทดลองเบื้องต้น ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้
5.1 รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre- experimental Design) ซึ่งเป็นการทดลองในรูปแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The single group, pretest-posttest Design)
5.2 ตัวแปรที่ศึกษา ประกอบด้วย
5.2.1 ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
5.2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
5.2.2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์
5.2.2.2 ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
5.3 ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพนาสนวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 70 คน จาก 3 ห้องเรียน
5.4 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนพนาสนวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 22 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
5.5 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย
5.5.1 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่
5.5.1.1 ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ จำนวน 14 ชุด
5.5.1.2 แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน
5.5.2 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ เป็นแบบทดสอบปรนัยแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89
2) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ เป็นแบบวัดแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95
5.6 วิธีดำเนินการวิจัย
ผู้รายงานดำเนินการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวและมีการวัดผลก่อนและหลังการทดลอง โดยดำเนินการดังนี้
5.6.1 ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเรียนรู้ เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม
5.6.2 วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน โดยให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และเก็บรวบรวมข้อมูลไว้
5.6.3 จัดการเรียนรู้ เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม ครั้งละ 1 ชุด รวม 14 ชุด ทำการวัดและประเมินผลการเรียน และเก็บรวบรวมข้อมูลไว้
5.6.4 เมื่อดำเนินการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เสร็จสิ้นครบ 14 ชุด แล้ววัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนหลังเรียน
7
5.6.5 วัดความพึงพอใจของนักเรียน โดยให้นักเรียนตอบแบบสอบถามความพึงพอใจ
5.7 การวิเคราะห์ข้อมูล
5.7.1 วิเคราะห์ประสิทธิภาพของชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ โดยใช้สถิติร้อยละ
5.7.2 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ t-test
5.7.3 วิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียน โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
6. สรุปผลการวิจัย
1. ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.34/81.59 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการเรียนจากชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.13 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.74
7. อภิปรายผลการวิจัย
7.1 การพัฒนาประสิทธิภาพของชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 พบว่าชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ รายวิชา ว32222 เคมี 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.34/81.59 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 เนื่องจากผู้รายงานได้สร้างชุดกิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ตามขั้นตอนการผลิต ชุดการสอนแผนจุฬาทุกประการ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา การวางแผนการสอน การผลิตชุดการสอน และการทดสอบประสิทธิภาพ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2543 : 117-119) นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรมเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการ ความถนัด และความสนใจของนักเรียน นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่การศึกษาใบความรู้ การทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันโดยมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น และสรุปเนื้อหาจนเข้าใจดีแล้ว จึงทำแบบฝึกหัด ซึ่งนักเรียนสามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้อง เมื่อรวมคะแนนการทำแบบฝึกหัด ของนักเรียนทุกคนจากชุดการสอนจำนวน 14 ชุดแล้ว จึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการมีค่าร้อยละตามเกณฑ์ 80 และหลังจากนักเรียนเรียนโดยใช้ชุดการสอนเสร็จสิ้นครบ 14 ชุดแล้ว ผู้สอนดำเนินการทบทวนความรู้ทั้งหมดในเรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ จนนักเรียนเข้าใจดีแล้ว จึงให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวม และนักเรียนสามารถทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนได้ จึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพของผลลัพธ์มีค่าร้อยละตามเกณฑ์ 80 และทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของจุฑามาศ เจตน์กสิกิจ (2552 : 68-75) เรื่องการพัฒนาชุดการสอนวิชาเคมี เรื่อง ไฟฟ้าเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่า
8
ชุดการสอนมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.48/81.43 ผลการวิจัยของศริญญา นามขันธ์ (2552 : 81-90) เรื่องการพัฒนาชุดการสอนวิชาเคมี เรื่อง โครงสร้างอะตอม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศรีสุขวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งพบว่าชุดการสอนที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.74/85.90 ผลการวิจัยของพิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่าชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.18/81.56 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียน เรื่อง ธาตุ และสารประกอบ ที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่าชุดการเรียนมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.55/81.71
7.2 การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากการเรียนโดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไป ตามสมมติฐานการวิจัย โดยมีค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 12.36 และ 32.64 ตามลำดับ เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรมเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความสนใจ ความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยจากสื่อประสมที่จัดไว้ในรูปแบบของชุดการสอน (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2543 : 115-116) นอกจากนี้การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองซึ่งมีหลายรูปแบบ บุคคลจะมีการลองผิดลองถูก (trial and error) ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่ให้ผลที่พึงพอใจมากที่สุด และพยายามใช้รูปแบบนั้นเชื่อมโรงกับสิ่งเร้าในการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ และเป็นไปตามกฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike) ได้แก่ กฎแห่งความพร้อม กล่าวว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ กฎแห่งการฝึกหัด กล่าวว่าการฝึกหัดหรือการกระทำบ่อย ๆ ด้วยความเข้าใจจะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ถ้าไม่ได้กระทำซ้ำบ่อย ๆ การเรียนรู้นั้นจะไม่คงทนถาวร และในที่สุดอาจลืมได้ และกฎแห่งการใช้ กล่าวว่า การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ความมั่นคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นหากได้มีการนำไปใช้บ่อย ๆ หากไม่มีการนำไปใช้อาจมีการลืมเกิดขึ้นได้ (ทิศนา แขมมณี, 2553 : 51-52) ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยต่าง ๆ เช่น ผลการวิจัยของจุฑามาศ เจตน์กสิกิจ (2552 : 68-75) เรื่องการพัฒนาชุดการสอนวิชาเคมี เรื่อง ไฟฟ้าเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05ผลการวิจัยของศริญญา นามขันธ์ (2552 : 81-90) เรื่องการพัฒนาชุดการสอนวิชาเคมี เรื่อง โครงสร้างอะตอม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศรีสุขวิทยา จังหวัดสุรินทร์ พบว่านักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการวิจัยของพิมพ์ลภัส อุ่นทรัพย์ (2554 : 69-75) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการวิจัยของวิโรจน์ นามโส (2555 : 83-88) เรื่องการพัฒนาชุดการเรียน เรื่อง ธาตุ และสารประกอบ ที่เน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
9
7.3 การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนจากชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม เรื่อง ปริมาณสัมพันธ์ พบว่าน