ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจ ม.3 ต่อชุดกิจกรรมวิทย์
ผู้รายงาน นายบรรหาร เจ๊กนอก
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านเขว้าวิทยายน อำเภอบ้านเขว้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 30
ปีที่พิมพ์ ปีการศึกษา 2560
ที่ปรึกษางานวิจัย
1. นางสาวภัสธนมนท์ สังข์ทอง
2. นายสุรัตน์ แนวโอโล
3. นายสุริยันต์ พันธุ์สง่า
4. นางพิมลภัส จัตุรัสตระxxxล
5. นางสาวอุทุมพร เงินจัตุรัส
บทคัดย่อ
การรายงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้ของนักเรียนต่อการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนบ้านเขว้าวิทยายน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 30 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 28 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 17 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) จำนวน 11 แผน ที่มีความสอดคล้องเหมาะสมมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.77 ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ จำนวน 11 เล่ม มีความสอดคล้องเหมาะสม มากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.79 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน จำนวน 40 ข้อ ที่มีค่าความยากง่ายระหว่าง 0.20 – 0.80 ค่าอำนาจจำแนก 0.20 – 1.00 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น จำนวน 10 ข้อ มีค่าความเหมาะสมมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.58 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละและสถิติ t-test (Dependent Sample t-test)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ประกอบแผน การจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 89.64/92.72 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) ปรากฏผลดังนี้
2.1 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ครบทั้ง 11 ชุด มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละก่อนเรียนเท่ากับ 31.56 คะแนนเฉลี่ยร้อยละหลังเรียนเท่ากับ 89.68 โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละที่เพิ่มขึ้น เท่ากับ 58.12
2.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ครบทั้ง 11 ชุด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 นักเรียนมีความสามารถในการปฏิบัติงาน ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับดีมาก ด้านภาระงาน / ชิ้นงาน อยู่ในระดับดีมาก ด้านทักษะกระบวนการกลุ่มอยู่ในระดับดีมาก และโดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก
2.4 นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านใฝ่เรียนรู้ อยู่ในระดับดีมาก ด้านมุ่งมั่นการทำงาน อยู่ในระดับดีมาก และโดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก
3. ดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) มีค่าเท่ากับ 0.83 โดยพบว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 82.88
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด