รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ชื่อผู้รายงาน นางสาวฐาปณี อัมพันธ์
ตำแหน่ง ครู โรงเรียนห้วยยอด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง เขต 13
ปีที่รายงาน 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) และ (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E)
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีเนื้อหาจำนวน 6 เล่ม ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญและทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 40 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่ายโดยใช้วิธีใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยของการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย (1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 6 เล่ม (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหน่วยการเรียนรู้เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) หาค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) และการทดสอบหาค่าที (t-test)
ผลการศึกษาพบว่า ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.76/86.12 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังจากศึกษาด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สูงกว่าก่อนศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก