รายงานผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แสงน่ารู้
ชื่อผู้รายงาน นางอรนีย์ ศิโล
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะความชำนาญทางการเรียนรู้อย่างมีความหมายด้วยตนเอง การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แสงน่ารู้ โดยใช้การสอน แบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) ศึกษาผลทดสอบทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง แสงน่ารู้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E 3) ศึกษาความสามารถด้านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E 4) ศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนอนุบาล หนองบัว(เทพวิทยาคม) ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 จำนวน 34 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E เรื่อง แสงน่ารู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 9 แผน 2) แบบทดสอบ วัดผลการเรียนรู้ก่อนและหลังเรียน แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ที่ผู้ศึกษาจัดทำขึ้นเอง โดยได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ 2) แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 3) แบบประเมินจิตวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและ การทดสอบค่าที (t-test)
ผลการศึกษาพบว่า 1) ประสิทธิภาพแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E ทุกแผนมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 80/80 2) ผลทดสอบทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E อยู่ในเกณฑ์ดี 4) จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E อยู่ในเกณฑ์ดีมาก
คำสำคัญ : การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนววงจรการเรียนรู้ 5E, กลุ่มสาระการเรียนรู้
วิทยาศาสตร์,โรงเรียนอนุบาลหนองบัว (เทพวิทยาคม)