ผลการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง วิชาคณิตศาสตร์
ผู้ศึกษา : นางวิลาวรรณ ธะนะ
ตำแหน่ง : ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง วิชาคณิตศาสตร์ (ค32101) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนภูซางวิทยาคม อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80 / 80 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่องเลขยกกำลัง ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ห้องเรียนที่ 3 โรงเรียนภูซางวิทยาคม อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องเลขยกกำลัง รายวิชาคณิตศาสตร์ ค32101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 12 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องเลขยกกำลัง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังเรียน เรื่อง เลขยกกำลังและแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ผู้ศึกษานำแบบฝึกทักษะไปใช้ในโรงเรียนภูซางวิทยาคม ซึ่งผู้ศึกษาเป็นผู้ดำเนินการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 25560 และได้ประเมินประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ ที่นำไปใช้ มีการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน และมีการสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการศึกษาคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t – test) ผลการวิจัยพบว่า เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดคือ
1.แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง วิชาคณิตศาสตร์ (ค32101) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพโดยรวมเท่ากับ 89.66 / 88.73 โดยมีค่าประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) เท่ากับ 89.66 และค่าประสิทธิภาพผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 88.73 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาแบบฝึกทักษะทุกเล่มแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดทุกเล่ม
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการเรียนสูงกว่าก่อนการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย เท่ากับ 9.12 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 30.40
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง เลขยกกำลัง วิชาคณิตศาสตร์ (ค32101) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยรวม 4.53