การพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยเทคนิค STAD เพื่อส่งเสร
ผู้วิจัย นางจิราภรณ์ มุริกา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนโคกล่ามพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27
ปีที่พิมพ์ 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ เรื่อง การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD (3) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนที่เรียน เรื่อง การอ่านอย่างมีวิจารณญาณสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียน เรื่อง การอ่านอย่างมีวิจารณญาณสำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนโคกล่ามพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม โดยใช้หน่วยการสุ่มเป็นห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้ามี 4 ชนิด คือ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD ซึ่งมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.31 แบบฝึกทักษะด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ จำนวน 10 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ 1 ฉบับ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.25 ถึง 0.83 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.84 และแบบสอบถามความพึงพอใจแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ ซึ่งผ่านการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยปรากฏว่า แผนการจัดการเรียนรู้ ด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.03/83.83 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ และมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.74 แสดงว่านักเรียนมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน คิดเป็นร้อยละ 73.63 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.93
สรุปได้ว่า แผนการจัดการเรียนรู้ ด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณสำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นอย่างดี เหมาะสมที่จะนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนให้แพร่หลายต่อไป