การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้
โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร
ผู้วิจัย ว่าที่ร้อยตรีชัชวาล ศรีโพธิ์ผา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
หน่วยงาน โรงเรียนสารคามพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O – NET) พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ มีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 50 การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เน้นให้นักเรียนได้ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองโดย ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่จัดเตรียมไว้อย่างดี จึงเป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร 3) เพื่อศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/16 จำนวน 40 คน ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนสารคามพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จากประชากร 4 ห้องเรียน จำนวน 160 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ (1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร จำนวน 8 แผน (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบทดสอบเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยาก (P) ตั้งแต่ 0.4 ถึง 0.76 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (B) ตั้งแต่ 0.30 ถึง 0.75 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.86 (3) แบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 ข้อ เป็นชนิดมาตราส่วนประมาณค่า ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ตั้งแต่ 0.34 ถึง 0.85 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้
1. แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร มีประสิทธิภาพ 85.53/80.25 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์
2. ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6992 คิดเป็นร้อยละ 69.92
3. นักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร มีความคงทนในการเรียนรู้
4. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร มีระดับความพึงพอใจ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
โดยสรุปในการวิจัยครั้งนี้ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร มีความคงทนในการเรียนรู้ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้โปรแกรมจีเอสพี (GSP) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร อยู่ในระดับมาก ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ควรนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป