การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ
ผู้ศึกษา: กัลยาณี ศรีวิเศษ
ปีการศึกษา : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ด้วยวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem Based Learning) 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้ผู้เรียนอย่างน้อยร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ด้วยวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก
กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนบุแกรงวิทยาคม อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติจริง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ใช้วิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก จำนวน 18 แผน เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ แบบประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้รายบุคคล แบบประเมินผลการทำกิจกรรมกลุ่ม แบบประเมินผลงานและสะท้อนผล แบบบันทึกการสัมภาษณ์นักเรียน และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการสอน ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ และแบบสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x-bar) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการแจกแจง ข้อค้นพบที่สำคัญในเชิงอธิบายความหมาย
ผลการวิจัย พบว่า
กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ
1) ขั้นการเสนอปัญหา นักเรียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับเรื่องที่จะเรียนรู้ใหม่ นักเรียนเกิดความมั่นใจในการตีความปัญหา เพื่อทำความเข้าใจปัญหาด้วยตนเอง นักเรียนจำเป็นต้องอ่าน สำรวจรายละเอียด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ ความสำคัญ ความเกี่ยวโยงในปัญหาหลัก พิจารณาข้อมูล ตีความ อธิบายความ และสรุปความให้เกิดความเข้าใจว่าปัญหานั้นๆ เพื่อมาประมวลสร้างเป็นตัวแทนปัญหา และวางแผนในการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ
2) ขั้นไตร่ตรองรายบุคคล นักเรียนทำการแก้ปัญหาคนเดียวด้วยตัวนักเรียนเอง นักเรียนอาศัยประสบการณ์เดิม นักเรียนจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการหาวิธีแก้ปัญหาตามที่ตนเองเห็นว่าอะไรเป็นปัญหา ปัญหาของนักเรียนแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปขึ้นกับประสบการณ์เดิมและการตีความปัญหา นักเรียนยังต้องเตรียมนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้เพื่อนนักเรียนในกลุ่มฟังด้วย การคิดไตร่ตรองด้วยตนเองนี้เป็นการคิดอย่างอิสระตามลำพังของนักเรียนตามศักยภาพและความแตกต่างของแต่ละบุคคล การตระหนักในปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของนักเรียนมีความสำคัญมากในขั้นนี้
3) ขั้นไตร่ตรองรายกลุ่ม นักเรียนแต่ละคนได้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง นักเรียนได้ฝึกทักษะการนำเสนอและทักษะการสื่อสารด้วย นักเรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด การร่วมกันอภิปรายช่วยให้นักเรียนเกิดความกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด และกล้าออกความคิดเห็น ด้วยความมั่นใจ นักเรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเองและตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความสำเร็จของตนเองมีส่วนช่วยให้กลุ่มประสบความสำเร็จ เป็นการเน้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการกลุ่ม พึ่งพาอาศัยกันและกัน มีความรับผิดชอบร่วมกัน มีความสามัคคี และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
4) ขั้นนำเสนอผลงาน นักเรียนทุกกลุ่มจะได้นำเสนอผลงาน ในการนำเสนอ จะมีการจัดลำดับการนำเสนอตามลำดับแนวคิดของนักเรียน โดยเรียงจากแนวคิดพื้นฐานหรือคิดได้น้อยไปหาแนวคิดที่สลับซับซ้อนหรือคิดได้มากกว่า นักเรียนมีความพร้อมในการทำงานกลุ่มให้แล้วเสร็จก่อนนำเสนอผลงาน นักเรียนมีความรับผิดชอบร่วมกัน ตรงเวลา และเตรียมการนำเสนอหน้าชั้นเรียนด้วยวิธีการที่เหมาะสม
5) ขั้นสรุป นักเรียนได้นำเสนอสิ่งที่สรุปได้ของตนเองด้วย เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนได้เน้นย้ำความคิดรวบยอดของบทเรียน และเรียนรู้แนวคิดของคนอื่น นักเรียนสรุปความรู้ที่ได้ในรูปแบบที่เปิดกว้างตามศักยภาพของตนเอง
6) ขั้นขยายหรือสร้างปัญหา นักเรียนยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาขยายหรือสร้างปัญหา นักเรียนได้แก้สถานการณ์ปัญหาอีกครั้งโดยสร้างสถานการณ์ปัญหาใหม่
7) ขั้นประเมินและสะท้อนผล นักเรียนได้ประเมินผลงานของตนเองและผลงานกลุ่ม นักเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนเป็นอย่างดี จึงจะสามารถประเมินงานของตนเองและของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนได้สะท้อนผลการเรียนรู้ บันทึกปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหา
การนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้วิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักมาใช้ในการสอน 3 วงจร ทำให้นักเรียนมีการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สูงขึ้น โดยวงจรที่ 1 มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 74.48 วงจรที่ 2 มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 76.21 และวงจรที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 76.55 นักเรียนร้อยละ 75.86 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป โดยนักเรียนทั้งชั้นมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 77.70 คะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ผ่านการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ด้วยวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก นักเรียนมีความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้วิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ด้านผู้เรียนและด้านผู้สอน อยู่ในระดับมากและมากที่สุดทุกตัวบ่งชี้ โดยในด้านผู้เรียน บทบาทและพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกมากที่สุด คือ นักเรียนได้มีโอกาสกำหนดเรื่องที่จะเรียนร่วมกับผู้สอน และนักเรียนได้นำเสนอแนวคิดอย่างอิสระ คิดเป็นร้อยละ 48.28 ส่วนด้านผู้สอน บทบาทและพฤติกรรมที่ผู้สอนแสดงออกมากที่สุด คือ ครูเตรียมบทเรียนที่เชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับเนื้อหาใหม่ที่จะเรียน และครูจัดกิจกรรมที่เน้นการคิดหลากหลายและปฏิบัติจริง คิดเป็นร้อยละ 48.28