รายงานผลการใช้ชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์
การหารเศษส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้รายงาน นางภัทราพร ศรีสาคร
ปีที่ศึกษา พ.ศ.2560
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหารเศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพ 80/80 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหารเศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านคำยาง อำเภอ วังสามหมอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 26 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง(Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้
คือ 1) ชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหารเศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นและให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบและทดลองหาประสิทธิภาพ จากนักเรียนรายบุคคล นักเรียนกลุ่มเล็ก มีประสิทธิภาพเท่ากับ 75.13/75.19 และการทดลองภาคสนาม มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.10/81.43 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหารเศษส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีความเชื่อมั่น .86 และ 3) แบบสอบถามเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นโดยใช้รูปแบบลิเกิร์ต จำนวน 20 ข้อ มีความเชื่อมั่น .83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ), ร้อยละ, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และสถิติการทดสอบค่าที กรณีกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน (t-test for Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหาร เศษส่วน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.10/81.43
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ เรื่องการแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหาร เศษส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. เจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนหลังเรียนด้วยชุดฝึกเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์
เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหารเศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมี
นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01