รายงานการประเมินโครงการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน
โรงเรียนเมืองถลาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 14
ชื่อผู้รายงาน สายชล ส่งแสง
ปีการศึกษา 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนเมืองถลาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ประเมินด้านสภาพแวดล้อม 2)ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า 3)ประเมินด้านกระบวนการ และ 4)ประเมินด้านผลผลิต โดยใช้หลักการประเมินตามรูปแบบ CIPP Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้คือ ผู้บริหารและครูผู้สอน จำนวน 86 คน นักเรียน จำนวน 313 คน ของโรงเรียนเมืองถลาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 14 ปีการศึกษา 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามประเภทมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 6 ฉบับ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า โครงการมีความจำเป็นต่อการพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือเป้าหมายของโครงการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อครูและนักเรียน และโครงการมีความจำเป็นต่อการส่งเสริมและพัฒนาครูให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า เกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่ดำเนินการ ความเพียงพอและความเหมาะสมของวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการสนับสนุนจากผู้บริหารและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในโรงเรียน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้สอน มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สถานที่สะดวกและเหมาะสมสำหรับการดำเนินงาน รองลงมาคือการแต่งตั้งคณะผู้ดำเนินโครงการมีความเหมาะสม และผู้บริหารให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ เกี่ยวกับความเหมาะสมและความพร้อมของการดำเนินงานตามกิจกรรม ตั้งแต่การวางแผนการดำเนินงาน การดำเนินโครงการ การนิเทศติดตามประเมินผล และการนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนา ผลการประเมินมีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ จัดทำปฏิทินปฏิบัติงานของโครงการไว้อย่างชัดเจน ผู้บริหารโรงเรียนควบคุมดูแลและนิเทศงานโครงการ และได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในโรงเรียนและหน่วยงานภายนอก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต เกี่ยวกับความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ความสามารถของนักเรียนในการทำโครงงาน และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อ การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน แยกเป็นรายด้าน คือ
4.1 ความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน แยกตามความคิดเห็นของ
ผู้บริหารและครูผู้สอน กับความคิดเห็นของนักเรียน ดังนี้
4.1.1 ความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้สอน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ แนะนำนักเรียนให้รู้จักหลักวิธีการในการทำโครงงาน ให้กำลังใจ ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เมื่อจำเป็น และให้โอกาสนักเรียนได้แสดงผลงาน แต่ถ้าพิจารณาความสามารถของครูในการจัด การเรียนรู้แยกตามขั้นตอนการสอนโครงงาน ผลการประเมินพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกขั้น โดยมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ ขั้นนำเสนอผลงาน ขั้นปฏิบัติโครงงาน ขั้นเสนอหัวข้อโครงงาน ขั้นวางแผนทำโครงงาน และขั้นเขียนรายงาน ตามลำดับ
4.1.2 ความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ตามความคิดเห็นของนักเรียน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ แนะนำนักเรียนให้รู้จักหลักวิธีการในการทำโครงงาน ให้โอกาสนักเรียนได้แสดงผลงาน และให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในการวางแผนทำโครงงาน ตามลำดับ แต่ถ้าพิจารณาความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แยกตามขั้นตอนการสอนโครงงาน ผลการประเมินพบว่า ค่าเฉลี่ยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกขั้น มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ขั้นนำเสนอผลงาน ขั้นเสนอหัวข้อโครงงาน ขั้นวางแผนทำโครงงาน ขั้นเขียนรายงาน และขั้นปฏิบัติโครงงาน ตามลำดับ
4.2 ความสามารถของนักเรียนในการทำโครงงาน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครูผู้สอน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ นำเสนอผลงานในรูปโปสเตอร์ วางแผนร่วมกันในการทำโครงงาน และนำเสนอในรูปแบบการแสดงผลงาน แต่ถ้าพิจารณาความสามารถของนักเรียนในการทำโครงงานแยกตามขั้นตอนการทำโครงงาน ผลการประเมินพบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ ขั้นนำเสนอผลงาน ขั้นวางแผนทำโครงงาน ขั้นเสนอหัวข้อโครงงาน ขั้นเขียนรายงาน และขั้นปฏิบัติโครงงาน ตามลำดับ
4.3 ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ นักเรียนได้รู้จักฝึก การทำงานเป็นกลุ่ม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นักเรียนได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนและใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และนักเรียนภาคภูมิใจกับผลงานของตนเอง ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
1. การประเมินโครงการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ได้ดำเนินการตามกระบวนการประเมินโครงการซึ่งได้ผลสรุปที่โรงเรียนควรนำไปปรับปรุงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
1.1 ด้านสภาพแวดล้อม ควรมีการประชุมวางแผนการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างต่อเนื่องก่อนการดำเนินโครงการควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมที่ครูต้องการจริง ๆ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้ทั้งโรงเรียน
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า ควรสนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ครู และรวมถึงการส่งครูไปอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมหรือเชิญวิทยากรที่ชำนาญมาให้คำปรึกษา เสนอแนะ
1.3 ด้านกระบวนการ จัดให้มีการประเมินระหว่างปฏิบัติงานอย่างชัดเจน และควรนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพ
1.4 ด้านผลผลิต ส่งเสริมให้ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบและวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ ให้รางวัลแก่ครูและนักเรียนที่มีผลงานเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
2. ควรมีการจัดอบรมการเขียนรายงานโครงงาน สำหรับนักเรียนและครูในรูปแบบเดียวกัน
3. ควรจัดแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนให้มากขึ้น เช่น เพิ่มจุดปล่อยสัญญานอินเตอร์เน็ต ตามจุดต่าง ๆ จัดห้องสืบค้น เพิ่มหนังสือในห้องสมุดที่ทันสมัยขึ้นสำหรับใช้ค้นคว้าและอ้างอิง