การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรีย
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย สุดสาคร อินทร์ทอง
วิชา ภาษาไทย
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาความต้องการพัฒนาการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และครูผู้สอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ 2) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีคุณภาพ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/5 โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ปทุมธานี – สระบุรี จำนวน 50 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบสุ่มอย่างง่าย โดยวิธีการจับฉลาก(Simple Random Sampling) โดยใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 12 คาบเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย คู่มือการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และแผนการจัดการเรียนรู้การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการพัฒนาการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า t - test
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และครูผู้สอนมีความต้องการพัฒนาการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
2. รูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการแนวคิดและทฤษฎี 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการสอน คือ 4P1C มี 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1: P1 (Planning) ขั้นวางแผนร่วมกัน ขั้นที่ 2: P2 (Perception) ขั้นสร้างประสบการณ์ ขั้นที่ 3: P3 (Practical) ขั้นขยายความคิด ขั้นที่ 4: P4 (Procedure)ขั้นกระบวนการ และขั้นที่ 5: C1 (Creative) ขั้นสรรค์สร้างงานใหม่ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน ซึ่งมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุดและมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.29/86.06
3. ผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ พบว่า
3.1) รูปแบบการเรียนการสอนโดยภาพรวมชองนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ 83.06/86.43
3.2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด