เผยแพร่ผลงานวิชาการ
หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางสุกัญญา จุมพรม
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
หน่วยงาน โรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ยังไม่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้เท่าที่ควร อันเป็นผลเนื่องมาจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มักจะเน้นที่ครูผู้สอนเป็นหลัก ซึ่งจะใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้โดยการบรรยาย ทำให้ผู้เรียนขาดการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และขาดทักษะที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่จะนำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยมีความมุ่งหมาย 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังเรียนด้วย ชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 38 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 2 ประเภทคือ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 14 แผน และชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS เรื่อง การดำรงชีวิตของพืชจำนวน 7 ชุด และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบย่อยท้ายแผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.33 – 0.75 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.80 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 16 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 2.19 – 5.66 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.82 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ค่าที (t-test แบบ Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในภาคสนาม เท่ากับ 87.14/86.42และในกลุ่มตัวอย่าง เท่ากับ 85.26/83.82 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เท่ากับ 0.756
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย ชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
สรุปได้ว่า ครูผู้สอนสามารถนำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค ATLAS หน่วยการเรียนรู้ การดำรงชีวิตของพืช กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถส่งเสริมให้นักเรียนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้