ผลการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านสติปัญญา
ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี)
ชื่อผู้วิจัย นางสาวรมิดา พุฒิถาวรกุล
สังกัด โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) เทศบาลเมืองนครพนม
อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการพัฒนาความพร้อมด้านสติปัญญาของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี)โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) โดยให้มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด ให้มีคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียน ชาย–หญิงที่มีอายุระหว่าง 5 – 6 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) เทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านสติปัญญาของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) จำนวน 3 หน่วย หน่วยละ 5 แผน ได้แก่ หน่วยต้นไม้ที่รัก หน่วยผีเสื้อแสนสวย และหน่วยผลไม้แสนอร่อย รวมจำนวน 15 แผน 2) แบบทดสอบวัดความพร้อมด้านสติปัญญา ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 25 ข้อ เป็นแบบปรนัย ที่ใช้รูปภาพประกอบ ชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก มีค่าความยากรายข้อ (P) ระหว่าง 0.20 ถึง 0.80 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (B) ระหว่าง 0.20 ถึง 0.70 และค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ เท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) จำนวน 25 คน ที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 21.84 จากคะแนนเต็ม 25 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 87.36 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 23 คน คิดเป็นร้อยละ 92.00 ของนักเรียนทั้งหมด เมื่อจำแนกความพร้อมรายด้าน พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านการเปรียบเทียบ เท่ากับ 4.60 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 92.00 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 25 คน คิดเป็นร้อยละ 100 คะแนนเฉลี่ยด้านการสื่อสารการพูด เท่ากับ 4.08 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 81.60 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 23 คน คิดเป็นร้อยละ 92.00 คะแนนเฉลี่ยด้านการสังเกต
เท่ากับ 4.52 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 90.40 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 25 คน คิดเป็น ร้อยละ 100 คะแนนเฉลี่ยด้านมิติสัมพันธ์ เท่ากับ 4.48 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 89.60 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 24 คน คิดเป็น ร้อยละ 96.00 คะแนนเฉลี่ยด้านสื่อสารด้านการเขียน เท่ากับ 4.28 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 85.60 จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 24 คน คิดเป็นร้อยละ 96.00 ซึ่งผลการพัฒนาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป