รายงานผลการบริหารโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียง แห่ง โรงเรี
โรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ชื่อผู้รายงาน : นางคำนึง แก้วมูล
ปีที่ทำการรายงาน : 2557
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานผลการบริหารโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารโครงการและรายงานผล การบริหารโครงการรวมทั้งศึกษาความพึงพอใจต่อโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียง แห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประชากรที่ใช้ในการรายงานครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ครูผู้สอน จำนวน 6 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 63 คน และนักเรียนจำนวน 72 คน รวมทั้งหมดจำนวน 148 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการรายงานประกอบด้วย (1) แบบสอบถามผลการบริหารโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา จำนวน 1 ชุด (2) แบบรายงานผลการบริหารโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา จำนวน 1 ชุด (3) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 1 ชุด (4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 1 ชุด โดยในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้รายงานได้ทำการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง แล้วรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำมาตรวจสอบความสมบูรณ์นำไปวิเคราะห์ทางสถิติ
การวิเคราะห์ข้อมูล นำข้อมูลจากแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามวิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นของการผู้ตอบแบบสอบถาม นำมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย () และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน () และการแจกแจงความถี่ แล้วนำเสนอในรูปตารางประกอบการบรรยายสรุป ส่วนข้อมูลผลการรายงานนำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการรายงาน พบว่า
1. การบริหารจัดการโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามขั้นตอนต่างๆ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามโครงการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูในโรงเรียนบ้านแม่ลามา มีความคิดเห็นว่าโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยภาพรวม มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์พิจารณา เมื่อเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า ด้านผลกระทบ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านผลผลิต ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ โดยทุกด้านมีระดับคุณภาพ อยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
ด้านปัญหา พบว่า กิจกรรมมีมากเกินไปทำให้ดำเนินการได้ไม่เต็มที่ รองลงมาคือ งบประมาณมีจำกัด ไม่เพียงพอ การประสานงานขอสนับสนุนงบประมาณและวิทยากรกับหน่วยงานอื่น ยังค่อนข้างน้อย และการประชาสัมพันธ์ของโครงการ ยังไม่กว้างขวางพอ ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ ผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อเสนอแนะคือ โรงเรียนควรมีการปรับระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมโครงการให้ลดลง มีการประสานงานขอความร่วมมือกับสถาบันที่เกี่ยวกับงานอาชีพมาช่วยให้ความรู้แก่นักเรียน อีกทั้งควรมีการจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษาต่อไป ด้านงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ควรขอสนับสนุนเพิ่ม
2. รายงานผลการบริหารโครงการ โครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า มีกิจกรรมหลัก ทั้งสิ้น 5 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมการปลูกพืช, กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์, กิจกรรมการแปรรูปผลผลิต, กิจกรรมสหกรณ์และกิจกรรมการอนุรักษ์ดิน ป่าไม้และน้ำ แต่ละกิจกรรมได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตร มีทักษะกระบวนการในการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างมีความสุข รู้จักพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตในโรงเรียน ชุมชนและสังคม และมีคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยใช้งานเกษตรและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานในการออกแบบ การจัดกิจกรรม กำหนดตัวชี้วัด และประเมินผล เริ่มโครงการตั้งแต่เดือน เมษายน 2554 ถึง เดือนมีนาคม 2557
ผลการบริหารโครงการแล้ว พบว่า ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะทางการเกษตร มีทักษะ กระบวนการการทำงาน กระบวนการกลุ่ม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และมีคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นไปตามหลักแห่งการดำรงชีวิตสายกลาง สามารถพัฒนากาย พัฒนาจิต และพัฒนาปัญญา โดยดำเนินการอยู่บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ การมีเหตุมีผล มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี และอยู่บนเงื่อนไขของความรู้คู่คุณธรรม ผลการบริหารจัดการโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงของโรงเรียนบ้านแม่ลามา จึงส่งผลให้เกิดผลงานในระดับสถานศึกษาอย่างภาคภูมิใจ
3. ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนต่อโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยรวมมีความพึงพอใจในระดับมาก ผ่านเกณฑ์พิจารณา เมื่อเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยสามลำดับแรก พบว่า การจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ดิน ป่าไม้และน้ำ ผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ กิจกรรมของโครงการช่วยสร้างจิตสำนึกและความตระหนักให้กับนักเรียนในการรักและหวงแหนท้องถิ่นของตนเอง และนักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียนลดภาระของผู้ปกครอง ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะต่อโครงการยุว เกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ โรงเรียนควรจัดงบประมาณสำหรับปรับปรุงสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก พร้อมหาตลาดในการรองรับผลผลิต และสร้างมูลค่าให้กับผลผลิต
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อโครงการยุวเกษตรกรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านแม่ลามา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยรวมมีความพึงพอใจในระดับมาก ผ่านเกณฑ์พิจารณา เมื่อเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า ประเด็นเกี่ยวกับกิจกรรมการอนุรักษ์ดิน ป่าไม้และน้ำ นักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาคือ ประเด็นเกี่ยวกับกิจกรรมการแปรรูปผลผลิต กิจกรรมการปลูกพืช กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ และกิจกรรมสหกรณ์ ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
1. การบริหารโครงการควรมีการใส่ใจและให้ความสำคัญต่องานหรือกิจกรรมที่พบปัญหาหรือกิจกรรมที่ยุติลงเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องยุติงานหรือกิจกรรมนั้น ควรนำมาสรุปข้อดี ข้อเสียและนำไปปรับปรุงพัฒนาให้เป็นงาน/กิจกรรม/หรือโครงการใหม่หรือดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้นักเรียนได้รับผลประโยชน์ต่อไปได้
2. การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการนั้น ผู้รับผิดชอบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรได้รับการทบทวนการปฏิบัติงาน สรุปบทเรียนที่ได้รับ เพื่อจะได้แนวทางในการพัฒนาการส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนต่อไป
3. รายงานผลการดำเนินการ หัวใจสำคัญ คือการวางแผนเชิงระบบ โดยเริ่มตั้งแต่กำหนดวัตถุประสงค์ ออกแบบกิจกรรม ตัวชี้วัด การประเมินผล และการสรุปบทเรียน ขั้นตอนสรุปบทเรียนนั้น ควรให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ในการแสดงความคิดเห็น เพื่อถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินงาน และจะได้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรให้ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ข่าวสารและสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับโครงการ และเพื่อพัฒนากิจกรรมการเกษตรสำหรับผู้เรียนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
5. ข้อเสนอแนะในสิ่งที่ควรปรับปรุงของโครงการ เกี่ยวกับการขยายการทำกิจกรรม หากพื้นที่โรงเรียนมีน้อยหรือไม่เหมาะสม ต้องมีการแก้ไขโดยการให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมการเกษตรที่บ้านนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองดูแลช่วยเหลือแนะนำ เพราะจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาการเกษตรจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองได้มากยิ่งขึ้น