การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต
ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต โดยใช้รูปแบบ
การเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2
ผู้วิจัย รัตติยา ภูบุญเติม
ปีที่ทำการวิจัย 2559
สถานที่วิจัย โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
………………………………………………………………………………………………………………………………………………
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของผู้เรียน หลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (3) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของผู้เรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับ การดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 24 จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและทดลอง ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นแบบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยากง่าย (P) ตั้งแต่ 0.32 – 0.72 ค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ 0.28 – 0.69 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต จำนวน 20 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.31 -0.67 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ t - test (Dependent Sample) ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อาหารกับการดำรงชีวิต มีประสิทธิภาพ 88.65/88.13 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (80/80)
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. ดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้มีค่าเท่ากับ 0.8202 คิดเป็นร้อยละ 82.02
4. ความพึงพอใจของนักเรียนโดยรวมที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ ในระดับมากที่สุด