การพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์สำหรับนักเรี
ผู้ศึกษา นางวงเดือน พูนไชย
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านดอนใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1
บทคัดย่อ
การพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ และเพื่อศึกษาผลการใช้หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 แบบแผนการศึกษาเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) การพัฒนาหลักสูตร 3) การสร้างเอกสารประกอบหลักสูตร และ 4) การทดลองใช้หลักสูตร กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านดอนใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 รวม 9 คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ แผนการจัดประสบการณ์ เรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ แบบประเมินพัฒนาการด้านการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 พบว่า
1.1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้เปิดโอกาสให้สถานศึกษาและครูผู้สอนนำความรู้ภูมิปัญญามาพัฒนาหลักสูตรและกำหนดรายละเอียดขึ้นเองให้สอดคล้องกับวัย ความต้องการ และความสนใจของเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์สำคัญ ทั้งนี้อาจยืดหยุ่นเนื้อหาโดยคำนึงถึงประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราว มีเจตคติที่ดี มีความรัก ภาคภูมิใจและอนุรักษ์มรดกของท้องถิ่น อันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และจากการสอบถามความต้องการพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาของจังหวัดบุรีรัมย์พบว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเรื่องความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตร การมีส่วนร่วมในการพัฒนา การจัดประสบการณ์ และประโยชน์ที่ได้รับ
1.2 การพัฒนาหลักสูตร ผู้ศึกษาได้กำหนดประเภทภูมิปัญญาที่นำมาจัดประสบการณ์ให้กับเด็กมี 5 ด้านคือ 1) ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพ ได้แก่ การทำนา การทอผ้าไหม และการจักสาน 2) ภูมิปัญญาด้านพิธีกรรม ได้แก่ แซนโดนตา บุญบั้งไฟ และบุญข้าวจี่ 3) ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้าน ได้แก่ กระยาสารท ปลาร้า และข้าวปุ้น (ขนมจีน) 4) ภูมิปัญญาด้านศิลปะและการละเล่น ได้แก่ กันตรึม เจรียง และหมอลำ 5) ภูมิปัญญาด้านโบราณสถานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินพนมรุ้ง และภูเขาไฟ จัดทำเป็นร่างหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ประกอบด้วย ความนำ หลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง ระยะเวลาในการจัดประสบการณ์ แนวการจัดประสบการณ์ และการวัดและประเมินผล ผลการประเมินความถูกต้องเหมาะสมของร่างหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด 7 ด้าน และระดับมาก 1 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ ด้านสภาพปัญหาและความต้องการ รองลงมาคือ ด้านจุดมุ่งหมาย ด้านสาระการเรียนรู้ ตามลำดับ
1.3 ผลการสร้างเอกสารประกอบหลักสูตร พบว่าแผนการจัดประสบการณ์มีคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 4 ด้าน ระดับมาก 2 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ ด้านการวัดและประเมินผล รองลงมาคือ ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ และด้านจุดประสงค์การเรียนรู้ ด้านสาระการเรียนรู้ ตามลำดับ
2. ผลการใช้หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 พบว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านการเรียนตามแผนการจัดประสบการณ์เรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยรวมมีนักเรียนที่ปฏิบัติได้ดีคิดเป็นร้อยละ 90.71 นักเรียนปฏิบัติได้เป็นบางครั้ง คิดเป็นร้อยละ 9.29 เมื่อพิจารณาเป็นรายแผนการจัดประสบการณ์ พบว่า แผนการจัดประสบการณ์ที่มีนักเรียนปฏิบัติได้ดี 3 ลำดับแรกคือ แผนการจัดประสบการณ์ที่ 15 เรื่องภูเขาไฟ คิดเป็นร้อยละ 96.15 รองลงมาคือแผนการจัดประสบการณ์ที่ 14 เรื่อง ปราสาทหินพนมรุ้ง คิดเป็นร้อยละ 95.30 และแผนการจัดประสบการณ์ที่ 10 เรื่อง กันตรึม คิดเป็นร้อยละ 94.44