การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามแนวทางอริยสัจสี่
ผู้วิจัย : นางอัญชิษฐา บุญสนอง
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการสอนวิทยาศาสตร์ และแนวทางการส่งเสริมทักษะความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียน 2) พัฒนารูปแบบการสอนวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวทางอริยสัจสี่ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวทาง อริยสัจสี่ และ 4) ประเมินรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวทางอริยสัจสี่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล วัดจอมคีรีนาคพรต อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 36 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวทางอริยสัจสี่ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และ 5) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ยร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวทางอริยสัจสี่ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้น มีชื่อเรียกว่า “EESS Model” โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และเงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ และกระบวนการเรียนการสอนประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นรู้แจ้งและเข้าใจในประเด็นปัญหา (Enlightening and understanding the problem: E) 2) ขั้นอธิบายที่มาของสาเหตุแห่งปัญหา (Explaining the source of the problem : E) 3) ขั้นศึกษาด้วยการปฏิบัติจริง (Studying with practice : S) และ 4) ขั้นสรุปสิ่งที่ค้นพบและประยุกต์ใช้ (Summarizing and applying : S) และรูปแบบการเรียนการสอน มีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.21/84.92 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียน
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวทางอริยสัจสี่ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด