บทคัดย่อการวิจัย(อ่านต่อด้านในค่ะ)
รายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน
ผู้วิจัย นางสาวอนัญญา ยอดจักร์
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2. เพื่อเปรียบเทียบดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index) ทางด้านการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะ 3. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ
พระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ จำนวน 26 คน ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบฝึกทักษะการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน จำนวน 8 ชุด และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ จำนวน 40 ข้อ มีความยาก (p) ตั้งแต่ 0.20 ถึง 0.63 ค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.22 ถึง 0.88 และ หาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามวิธีคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา(Alpha Coefficient) ของครอนบัค (Cronbach’s Alpha Coefficient)โดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.82 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้ t-test (Dependent - Samples )
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของการพัฒนาแบบฝึกทักษะทางการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ เท่ากับ 80.38/80.57 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2. ประสิทธิผลของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนมีค่าเท่ากับ 0.7146 ซึ่งสูงกว่าดัชนีประสิทธิผลที่กำหนดไว้ที่ระดับ .50 แสดงว่าหลังการพัฒนาแบบฝึกทักษะทางการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์
ศรีสะเกษ แล้ว นักเรียนมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.46
3. ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาแบบฝึกทักษะทางการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ ก่อนเรียนและหลังเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน