รายงานการประเมินโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายใน โรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31
ชื่อผู้ประเมิน นายวชิรวรรธน์ วัฒนสันติพงศ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียน
โรงเรียนปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ปีที่พิมพ์ 2561
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายใน โรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการ และผลผลิตในการดำเนินงานตามโครงการ
โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ของ สตัฟเฟิลบีม และซิงค์ฟิลด์ (Stufflebeam and Shinkfield. 1985 : 141) ประชากรในการประเมินครั้งนี้ คือ ครูโรงเรียนปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นครูที่ปรึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ 2 ปีการศึกษาติดต่อกัน คือ ปีการศึกษา 2559 – 2560 จำนวน 81 คน และครูที่เป็นหัวหน้างานสังกัดฝ่ายกิจการนักเรียนซึ่งโรงเรียนแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการนิเทศ จำนวน 18 คน รวม 99คน กลุ่มตัวอย่างในการประเมินใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่ ครูใหม่โรงเรียนปากช่อง ที่ปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษา ระหว่างปีการศึกษา 2559 – 2560 จำนวน 65 คน และครูที่เป็นหัวหน้างานสังกัดฝ่ายกิจการนักเรียนซึ่งโรงเรียนแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการนิเทศ จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบประเมินแบบมาตรประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 7 ฉบับ ประกอบด้วย แบบประเมินสภาวะแวดล้อม จำนวน 1 ฉบับ แบบประเมินปัจจัยเบื้องต้น จำนวน 1 ฉบับ แบบประเมินกระบวนการ จำนวน 1 ฉบับ และแบบประเมินผลผลิต จำนวน 4 ฉบับ โดยแต่ละฉบับกำหนดการประเมินเป็น 5 ระดับ ปลายเปิด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าเฉลี่ยและ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผู้ประเมิน ได้สรุปผลการประเมินอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ ดังนี้
ผลการประเมินโครงการ
ด้านสภาวะแวดล้อม พบว่า สภาวะแวดล้อม ด้านนโยบาย ความต้องการในการพัฒนา และ ความเป็นไปได้ในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายใน โรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ความสอดคล้องของสภาวะแวดล้อมด้านนโยบาย ด้านความต้องการการพัฒนา และด้านความความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก
ด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า ความเหมาะสมของปัจจัยเบื้องต้นและวิธีดำเนินการตามโครงการโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายในโรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
ด้านประเมินกระบวนการ พบว่า กระบวนการในการดำเนินงานตามกิจกรรมต่างๆ ในโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการ ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายในโรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 โดยรวมพบว่า ระหว่างดำเนินการอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อสิ้นสุดโครงการ อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเมื่อสิ้นสุดโครงการมากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างการดำเนินการ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการในการดำเนินงานตามโครงการมีความ ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ
ด้านประเมินผลผลิต พบว่า
1. ผลการจัดกิจกรรมในโครงการ พบว่า การดำเนินการตามกิจกรรมในโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายในโรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 กิจกรรมการนิเทศโดยส่งครูใหม่ไปเข้าร่วมอบรม ประชุม สัมมนานอกโรงเรียนโดยรวมอยู่ในระดับมาก
การดำเนินการตามกิจกรรมในโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายในโรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 กิจกรรมการนิเทศโดยการใช้คู่มือการปฏิบัติงานฝ่ายกิจการนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก
การดำเนินการตามกิจกรรมในโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายในโรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 กิจกรรมการนิเทศโดยการสนทนากลุ่ม โดยรวมอยู่ในระดับมาก
2. ผลการพัฒนาโดยรวม พบว่า ระดับการปฏิบัติของตนเอง ก่อนดำเนินการตามนโครงการพัฒนาครูใหม่ด้านการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการนิเทศภายในโรงเรียนปากช่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง หลังดำเนินการตามโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลกระทบที่เกิดกับนักเรียน
3.1 ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมีค่าเฉลี่ยผลการเรียนโดยรวมเมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาคการศึกษา พบว่า นักเรียนโรงเรียนปากช่อง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกภาคเรียน ในขณะเดียวกัน ร้อยละของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ ลดลงทุกภาคเรียนเช่นเดียวกัน
3.2 ผลกระทบที่เกิดกับครู พบว่า ครูใหม่เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ความสามารถ หมั่นพัฒนาตนเอง เข้ากับชุมชนได้ดี ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน มีความมุ่งมั่นและอุทิศตนในการพัฒนางานสอนและงานที่ได้รับมอบหมายอื่นๆ มีความรักสามัคคีเกื้อxxxลกันและกัน มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนมีความก้าวหน้าตามศักยภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูตามแนวทางครูมืออาชีพ
3.3 ผลกระทบที่เกิดกับโรงเรียน พบว่า โรงเรียนมีการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับฝ่ายกิจการนักเรียนโดยการรายงานอย่างเป็นระบบทุกกิจกรรม ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียน จากชุมชน ในการการบริจาคทุนการศึกษา วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อปรับภูมิทัศน์อาคารสถานที่ภายในโรงเรียน และได้รับความร่วมมือในการร่วมพัฒนาระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดโดยดำเนินการตามแนวทางสถานศึกษาสีขาวและส่งผลการดำเนินการประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. หน่วยงานต้นสังกัด ควรมีหน่วยงานย่อยและมีบุคลากรดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในรูปขององค์กร หรือเครือข่ายเพื่อการพัฒนาด้านนี้โดยตรง
2. สถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัด ควรกำหนดวิธีการพัฒนางานด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากวิชาการการอย่างจริงจัง
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. การดำเนินการนิเทศงานฝ่ายกิจการนักเรียนเป็นการส่งเสริมงานนโยบายการปฏิรูปการเรียนรู้ หากนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังจะทำให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อันจะส่งผลให้การเรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ควรจัดส่งบุคลกรทุกระดับเข้ารับการอบรม ประชุม สัมมนา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้จากประสบการณ์ตรง และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ตนเองรับผิดชอบ อันจะมีผลต่อการนำไปปฏิบัติงานได้ด้วยความมั่นใจ
3. ควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานทุกคนให้บุคลากรได้เรียนรู้งานที่ตนเองรับผิดชอบเฉพาะกลุ่มเพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้ เกิดความชัดเจนในภาระหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ อันจะมีผลต่อการนำไปปฏิบัติงานได้
4. ควรมีการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรโดยการจัดสนทนากลุ่มอาจเป็นกลุ่มสนใจ หรือกลุ่มที่พบปัญหาในการปฏิบัติงานประเภทเดียวกันในโรงเรียน โดยกำหนดเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารที่จะต้องประสานกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน รวมถึงการกำกับดูแลให้เกิดผลทางการปฏิบัติอย่างแท้จริง อันจะมีผลต่อการพัฒนานักเรียน ครู และโรงเรียนให้สามารถดำเนินการบริการด้านการศึกษา และอื่นๆ ให้กับสังคม
5. ควรสนับสนุนชุมชนให้มีบทบาทในการดูแลนักเรียนรูปแบบต่างๆ การสนับสนุนปัจจัย ด้านต่างๆ แก่โรงเรียน รวมถึงการระดมความคิดในภาคส่วนของชุมชน จะส่งผลให้โรงเรียนสามารถบริหารงานได้เป็นไปตามบริบทของสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่
ข้อเสนอแนะในการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรมีการประเมินความต้องการและความคาดหวังของผู้รับบริการทางการศึกษาโดยใช้ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เพื่อจะได้นำข้อมูลเชิงประจักษ์ไปใช้ในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา การดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ตรงประเด็น และเป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่น
2. ควรมีการศึกษาบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนที่มีผลต่อการดำเนินงานของโรงเรียนตามนโยบายของหน่วยงานเหนือขึ้นไป