การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง
จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้วิจัย รัตตัญญู ศรีไชย
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2) สร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 4) ประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีขั้นตอนวิจัย ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิชาการและคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน และศึกษาดูงานโรงเรียน ขั้นตอนที่ 2 สร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการ ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการ และขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการ
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือ องค์ประกอบหลักที่ 1 ขอบข่ายการบริหาร งานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชมี 11 องค์ประกอบย่อย คือ 1. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น 2. การวางแผนด้านวิชาการ 3. การเรียนการสอนและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ 4.การพัฒนาหนังสือ สื่อ นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ 5. การวัดผล ประเมินผลและการดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน 6. การนิเทศการศึกษา 7. การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 8. การแนะแนวการศึกษา 9. การจัดทำระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับงานด้านวิชาการของสถานศึกษา 10. การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา และ 11.การส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาบุคคล ครอบครัว ชุมชนและองค์กรอื่นที่จัดการศึกษา
องค์ประกอบหลักที่ 2 กระบวนการพัฒนาการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 6 องค์ประกอบย่อย คือ 1. การระบุเป้าหมาย 2. การจัดทำแผนกลยุทธ์ 3. การปฏิบัติงานตามแผนกลยุทธ์ 4. การส่งเสริม ควบคุม กำกับ ติดตาม นิเทศ 5. การตรวจสอบและประเมินผล 6. การสะท้อนผล รายงานผลการดำเนินงาน และการนำผลการประเมินไปใช้
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า โรงเรียนดำเนินตามขั้นตอนในรูปแบบอย่างครอบคลุมทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและนำผลการประเมินไปใช้ ทำให้การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนบ้านเกาะทัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นไปอย่างเป็นระบบ ช่วยแก้ปัญหาให้โรงเรียนและพัฒนาคุณภาพมากขึ้น
3. ผลการประเมินการใช้รูปแบบ พบว่า
3.1 ผลการใช้รูปแบบทั้งโดยรวมและองค์ประกอบหลักทั้ง 2 องค์ประกอบ มีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก
3.2 ผลการประเมินความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบโดยรวมและรายด้านทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้านปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการนำรูปแบบไปใช้ พบว่า ครูไม่สามารถจัดทำแผน การจัดการเรียนรู้ได้ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ที่รับผิดชอบ การพัฒนางานวิชาการอย่างเดียวไม่สามารถทำให้โรงเรียนประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ครูไม่สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลให้ได้มาตรฐานครบทุกสาระการเรียนรู้ได้ แนวทางการแก้ปัญหา คือ โรงเรียนควรจัดหาแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพดีให้ครูใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำและนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ ศึกษาวิจัยผลจากการจัดการเรียนการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ให้มีเหมาะสมมากที่สุด ควรนำกระบวนการบริหารงานวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปแบบเดียวกันในการบริหารงานทั้งระบบ