การสร้างแบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน
โรงเรียนศรีจอมทอง
๒.ที่มาและความสำคัญ
ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุรการงานและดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาชาติได้อย่างสันติสุขและเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ภาษาไทยจึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ดังนั้นการเรียนภาษาไทย จึงต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะอย่างถูกต้อง เหมาะสมในการสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการเรียนแสวงหาความรู้และประสบการณ์ การจัดการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประชากรของประเทศให้มีคุณภาพอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีความเข็มแข็งในทุกด้านกระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) โดยกำหนดจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนที่คลอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งแต่วัยเริ่มต้นและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๕๘ ได้กำหนดนโยบาย” ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นผู้เรียนมีความสามารถในการอ่านและการเขียนตามเกณฑ์มาตรฐาน
การอ่านและการเขียน จึงเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้ และการพัฒนาชีวิตสู่ความสำเร็จ เพราะจะนำมาซึ่งความรู้และส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ แยกแยะ และประยุกต์ใช้ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดสื่อสารความรู้ ความคิดให้ผู้อื่นทราบและเข้าใจได้ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ หากผู้เรียนบกพร่องหรือขาดความสามารถในการอ่านการเขียนจะส่งผลให้การเรียนรู้ไม่อาจก้าวหน้าได้ และจะประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาที่จะต้องพัฒนาความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารให้แก่ประชาชนตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ในระดับที่ซับซ้อนขึ้นเมื่อเติบใหญ่ และนำไปสู่การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นในช่วงระยะเวลา ๙ ปี ของการจัดการศึกษาภาคบังคับ และ ๑๒ ปีของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชน จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการวางรากฐาน ให้นักเรียนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ให้มั่นคง ซึ่งการรู้หนังสือหรือการอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง และสื่อสารได้นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญอันดับแรก ๆ ของการพัฒนาขีดความสามารถของผู้เรียน ทั้งนี้การพัฒนา ความสามารถในการอ่านและการเขียนนอกจากครูจะต้องมีความรู้ เข้าใจทักษะและกระบวนการพัฒนาความสามารถในการอ่านและการเขียนของนักเรียน ทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษแล้ว ครูยังต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของผู้เรียน ทั้งความแตกต่างทางสติปัญญาและความแตกต่างทางพื้นฐานครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการพัฒนาความสามารถในการอ่านการเขียนของผู้เรียนด้วย(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,๒๕๖๐)
การอ่านเป็นทักษะหนึ่งในการพัฒนาการเรียนรู้เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วการอ่านจึงช่วยเสริมสร้างช่วยให้มีโลกทัศน์กว้างไกลรวมทั้งการนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีเหตุผลอย่างไรก็ตามการอ่านหนังสือของคนไทยซึ่งสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๔พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียงปีละ ๒เล่มซึ่งถือว่าน้อยมาก (สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔,จาก http://news.sanook.com)
โรงเรียนศรีจอมทอง เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนจำนวนมาก มาจากหลายพื้นที่มีทั้งคนพื้นราบ ชนเผ่าและไทใหญ่ และมีนักเรียนย้ายเข้าเรียนตลอดปีการศึกษา ทำให้การจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะวิชาภาษาไทยประสบปัญหาในด้านการอ่านการเขียนเพราะนักเรียนมาจากหลายๆที่มารวมกันทำให้การสื่อสารในช่วงแรกมีปัญหาทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยเป็นไปอย่างลำบากและช้า การอ่านคำ อ่านสะกดคำและการเขียนนักเรียนอ่านไม่ถูกต้อง และครูจัดกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง อาจเนื่องมาจากภาระหน้าที่อื่นมีมาก นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของการอ่าน ไม่ชอบอ่านหนังสือทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับสุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ (๒๕๕๑, หน้า ๔) ที่ว่า “การอ่านเป็นหัวใจของการเรียนรู้” ซึ่งต้องมีการจัดกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมพัฒนาทักษะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาในการฝึกฝนอยู่เสมอจนเกิดเป็นนิสัยรักการอ่าน เป็นคนช่างคิด ช่างเขียน กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ มีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากความสำคัญดังกล่าวทางโรงเรียนศรีจอมทองจึงได้ทำชุดฝึกทักษะการอ่านภาษาไทยชุด ร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยของนักเรียนโรงเรียนศรีจอมทองและเพื่อเป็นการสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีนโยบายให้ในระดับ ชั้น ป. ๑ อ่านออกเขียนได้ และอ่านคล่องเขียนคล่องให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
๓. วัตถุประสงค์
๑. เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
๒. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
๔. การดำเนินงาน
๑. ขั้นตอนการสร้างแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาไทย ชุด ร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อ
ลูกหลานศรีจอมทอง ดำเนินการดังนี้
๑.๑ ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น
๑.๒ วิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในการทำแบบฝึกทักษะภาษาไทย
ชุด ร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง สาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เพื่อเป็นกรอบในการทำแบบฝึกทักษะภาษาไทย
๑.๓ ศึกษาเอกสาร ตำรา คู่มือครู แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสร้างแบบฝึกทักษะภาษาไทยชุด ร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนศรีจอมทอง เพื่อกำหนดขอบเขตและรูปแบบของแบบฝึกทักษะ
๑.๔ วิเคราะห์เนื้อหาเพื่อนำมากำหนดกรอบเนื้อหาให้สอดคล้องตามหลักสูตร
แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของแต่ละชั้น
๑.๕ แต่ละสายชั้นจัดทำแบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลาน
ศรีจอมทอง
๑.๖ นำแบบฝึกทักษะภาษาไทยชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทองให้
ฝ่ายวิชาการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ขนาดตัวหนังสือ รูปแบบและรุปเล่มให้เหมาะสมกับระดับชั้นที่เรียน
๑.๗ นำแบบฝึกทักษะภาษาไทยชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทองไป
ใช้กับนักเรียนโรงเรียนศรีจอมทอง
๒. ประชากรในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนศรีจอมทองทุกระดับชั้น
๒.๑ ประชากรในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนศรีจอมทองตามระดับชั้น
๒.๒ เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการพัฒนาการอ่านคำเขียนคำง่ายๆตรงตามตัวสะกด อ่านบทร้อยกรอง โยงเส้น ประสมคำ ฝึกการเขียนประสมเขียนคำตามคำบอก
๓.เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
๓.๑ แบบฝึกทักษะภาษาไทย
๓.๒แบบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อน – หลังเรียน
๓.๓ แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน
๕. ผลสำเร็จของการดำเนินงาน
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาค้นคว้า เรื่อง แบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง โรงเรียนศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
สรุปผลได้ดังนี้
ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๗๔.๖๓ เนื่องจากแบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทองน่าสนใจและมีความเหมาะสมกับระดับชั้นของเด็กรวมทั้งครูผู้สอนมีเทคนิคการสอนและจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัยของเด็กและให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางได้คิด ได้อ่านและเขียนทำให้นักเรียนมีการพัฒนาศักยภาพในการเรียนของตนเองได้ดีขึ้นสอดคล้องกับการสร้างแบบฝึกทักษะที่ดี ของสุวิทย์ มูลคำ และสุนันทา สุนทรประเสริฐ (๒๕๕๐ : ๖๐-๖๑) กล่าวว่า แบบฝึกทักษะที่ดีควรคำนึงถึงหลักจิตวิทยา การเรียนรู้ ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง ความครอบคลุม ความสอดคล้องกับเนื้อหา รูปแบบน่าสนใจ และคำสั่งชัดเจนซึ่งสอดคล้องกับดวงมณี กันทะยอม (๒๕๕๑, หน้า ๒๖) ที่กล่าวว่า แบบฝึกทักษะเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝึกทักษะเพื่อให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงและทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นการเสริมให้เกิดทักษะที่ถูกต้องและเป็นส่วนที่เพิ่มหรือเสริมจากบทเรียนช่วยฝึกทักษะการเรียนรู้ต่าง ๆได้ดีขึ้นและ ณัฐชา อักษรเดช (๒๕๕๔, หน้า ๑๙ ) กล่าวว่า แบบฝึกเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นอย่างมีจุดหมายที่แน่นอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการกระทำจริงเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เรียนทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งที่เรียนได้ดีและนำการเรียนรู้และความรู้ที่ได้ไปใช้ในสถานการณ์อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้
ด้านความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีดังนี้ นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก ทั้งนี้เป็นเพราะแบบฝึกทักษะมีขนาดตัวอักษรที่เหมาะสมกับนักเรียน นักเรียนรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาไทย อีกทั้งแบบฝึกทักษะยังช่วยให้นักเรียนเข้าใจในการอ่านภาษาไทยรวดเร็วมากขึ้นมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาการอ่าน การเขียนและคิดวิเคราะห์ได้ดี สามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเองและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ทักษะกระบวนการกลุ่ม ร่วมกันทำงาน ทำให้เกิดประสบการณ์อย่างหลากหลาย มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ รู้สึกชอบและพอใจในการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง ซึ่งสอดคล้องกับราภรณ์ ทรงประศาสน์ (๒๕๕๑, หน้า ๑๗) ที่กล่าวว่าแบบฝึกทักษะช่วยในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื่องจากเด็กมีความสามารถทางภาษาแตกต่างกัน การให้เด็กทำแบบฝึกทักษะที่เหมาะสมกับความสามารถจะช่วยให้เด็กประสบ ความสำเร็จในด้านจิตใจมากขึ้น
สรุปได้ว่าแบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อลูกหลานศรีจอมทอง โรงเรียนศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสื่อการสอนที่ช่วยในการอ่านและเขียนของนักเรียนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ มีความรู้ความเข้าใจความหมายของเนื้อหาบทเรียนได้ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งยังช่วยให้กระบวนการเรียนการสอนสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น นักเรียนอ่านออกเขียนได้ และสื่อสารได้ทำให้การสอนวิชาภาษาไทยประสบผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนและหลักสูตรเป็นไปตามนโยบายของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๖. ประโยชน์ที่ได้รับ
๑. นักเรียนโรงเรียนศรีจอมทองมีแบบฝึกทักษะภาษาไทย ชุดร้อยเรียงเขียนอ่านเพื่อ
ลูกหลานศรีจอมทอง
๒. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้น
๓. นักเรียนมีทักษะการอ่าน การเขียนได้ดีตามระดับชั้น