การสร้างชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงาน ความร้อ
ระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น
ประเภทของผลงาน นวัตกรรมทางการศึกษาและเทคโนโลยีทางการศึกษา
ประกอบการจัดการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ ว21102
กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์
ชื่อผู้ศึกษา นางอดิศร ฉินสูงเนิน
บทคัดย่อ
การศึกษาการสร้างชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) เทศบาลนครนครราชสีมา 2) สร้างชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนเรียนรู้และหลังเรียนรู้ด้วยชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ 4) ศึกษาเจตคติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และ 5) ศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ประชากรเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมด 3 ห้องเรียน จำนวน 105 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 38 คน ซึ่งได้จากการสุ่ม แบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกการประชุม แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ แบบวัดเจตคติทางวิทยาศาสตร์ และแบบวัดความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าร้อยละ และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนโดยการทดสอบค่าที (t-test) จากการศึกษาพบว่า
1) สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) เทศบาลนครนครราชสีมา ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดคือร้อยละ 65.00 นักเรียนขาด ความสนใจต่อบทเรียนวิทยาศาสตร์ ขาดความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ และเกิดความยุ่งยากในการจัดการเรียนรู้ของครูเนื่องจากนักเรียนมีความแตกต่างกัน
2) การสร้างชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ได้ชุดการเรียน 7 ชุดการเรียนย่อย ทุกชุดการเรียนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนรู้ด้วยชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ หลังเรียนมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) เจตคติทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ โดยรวมเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 4.53 อยู่ในระดับดีมาก
5) ความพึงพอใจต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยชุดการเรียน เรื่อง แรง การเคลื่อนที่และพลังงานความร้อน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ มีค่าโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 อยู่ในระดับพึงพอใจมาก