รายงานผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษา
พัฒนาสมอง ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวจันทร์นภา กระแสเงินดี
ปีทีศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ระหว่างการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง และเพื่อศึกษาผลการเปรียบเทียบ การพัฒนาการทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง จำแนกรายด้านและภาพรวม ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านปางตอง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านปางตอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 จำนวน 16 คน มีวิธีการดำเนินการศึกษาโดยใช้รูปแบบ การทดลองกับประชากรกลุ่มเดียว (One Group Pretest-Posttest Design) คือ ดำเนิน การทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยใช้แบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และดำเนินการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง แล้วสังเกตพฤติกรรมการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ระหว่างการดำเนินการจัดกิจกรรมตามแผน จำนวน 27 แผน แล้วรวบรวมประมวลผลเป็นช่วงสัปดาห์ จำนวน 9 ครั้ง 9 สัปดาห์ แล้วจึงทำ การทดสอบหลังกิจกรรม ด้วยแบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ชุดเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษา ได้แก่ ( 1 ) คู่มือจัดกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง จำนวน 27 กิจกรรม ( 2 ) แผนการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง จำนวน 27 แผน ( 3 ) แบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จำนวน 3 ชุด แล้วจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ศึกษาด้วยค่าเฉลี่ย (µ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) และค่าร้อยละ
สรุปผลการศึกษา
1. ผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ระหว่างการจัดกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านปางตอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ช่วง 9 สัปดาห์ จากการวัดและประเมินผลทุกแผน 27 แผน แล้วเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล 9 ช่วง พบว่า ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์รายพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านทักษะการนับจำนวน ด้านทักษะการเปรียบเทียบ และด้านทักษะการจับคู่ และ ในด้านภาพรวม เริ่มสัปดาห์แรกผลการวัดและประเมินเฉลี่ย ( µ ) อยู่ที่ระดับอยู่ที่ระดับพอใช้ (1.8, 1.73, 1.73, 1.7 และ 1.74 ตามลำดับ)เมื่อจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมองจนถึงสัปดาห์ที่ 10 ผลการวัดและประเมินของเด็กมีค่าเฉลี่ย ( µ ) อยู่ที่ระดับดี (3.00, 2.93 3.00, 3.00 และ 2.98 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาพฤติกรรมแต่ละด้านและภาพรวม ปรากฏว่า มีการพัฒนาดีขึ้นทุกช่วงสัปดาห์ และผลรวมโดยเฉลี่ย( µ ) ของแต่ละพฤติกรรมและภาพรวมอยู่ในระดับดีทุกด้าน (2.50, 2.44, 2.40, 2.45 และ 2.46 ตามลำดับ) แสดงว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยการจัดประสบการณ์กิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีพัฒนาการดีขึ้นทุกช่วงสัปดาห์
2. ผลการเปรียบเทียบพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์รายพฤติกรรมและภาพรวมของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านปางตอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ก่อนและหลังการใช้กิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง พบว่า พฤติกรรมรายพฤติกรรมและภาพรวม มีคะแนนแตกต่างกัน โดยก่อนการจัดกิจกรรมพฤติกรรมในด้านทักษะการนับจำนวน ทักษะการเปรียบเทียบ ทักษะการจับคู่ และภาพรวมมีคะแนน (2.9, 2.6, 2.5, 2.8 และ 2.7 ) ตามลำดับ หลังการจัดกิจกรรมนักเรียนทดสอบได้คะแนน (4.8, 4.7, 4.9, 4.9และ 4.83 ) ตามลำดับ มีคะแนนแตกต่างกันเท่ากับ (1.9, 2.1, 2.4, 2.1 และ 2.13 ) ตามลำดับ คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ ( 38.00, 42.00, 48.00, 42.00 และ 42.60 ) ตามลำดับแสดงว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ โดยการจัดประสบการณ์กิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง ซึ่งเปรียบเทียบ ความแตกต่างของคะแนนหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิกิจกรรมเกมการศึกษาพัฒนาสมอง ทุกพฤติกรรมและภาพรวม