การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนบ้านหินกองฯ
โรงเรียนบ้านหินกองสามัคคี อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ผู้วิจัย นายรณชัย ธรรมราช
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหินกองสามัคคี
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ
บทสรุปย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนบ้านหินกองสามัคคี ในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานได้ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้ (1) เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (2) เพื่อให้ครูสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานได้ (3) เพื่อให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานได้
การวิจัยในครั้งนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องในการวิจัย ดังนี้ (1) ผู้ร่วมวิจัย คือ ข้าราชการครูในโรงเรียนบ้านหินกองสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 คน (2) ผู้ให้ข้อมูล จำนวน 24 คน ประกอบด้วย วิทยากรผู้ให้การอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 5 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหินกองสามัคคี ชั้นละ 3 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้ร่วมวิจัย ทำแบบทดสอบหลังการการประชุมเชิงปฏิบัติการ ได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่าก่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการ คือ ก่อนการประชุมได้คะแนนเฉลี่ย ( ) 8.17 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 40.85 และหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการทำแบบทดสอบได้คะแนนเฉลี่ย ( ) 17.00 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 85.00 แสดงให้เห็นว่าภายหลังการพัฒนาครูด้านการจัดการการเรียนรู้แบบโครงงาน ทำให้ผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจ เรื่อง การจัดการการเรียนรู้แบบโครงงานเพิ่มมากขึ้น
2. ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ร่วมวิจัย และการสัมภาษณ์วิทยากร ภายหลังการร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า ผู้ร่วมวิจัยมีความพึงพอใจต่อการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นอย่างมาก และผู้ร่วมวิจัยเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมการการเรียนรู้แบบโครงงานมากขึ้น ผลการดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการการเรียนรู้แบบโครงงาน บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ ทำให้ผู้ร่วมวิจัยได้รับความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ร่วมวิจัยมีความมั่นใจว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานได้ และจะสามารถนำความรู้จากแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานนั้นไปใช้ในชั้นเรียนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ผลจากการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ในการพัฒนาวงรอบที่ 1 ในการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของผู้ร่วมวิจัย พบว่า ผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานอยู่ในระดับความเหมาะสมปานกลาง มีค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 3.49 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 69.80 และในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ผู้ร่วมวิจัยมีพฤติกรรมในการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับพอใช้ โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 3.73 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 74.60 จากผลการพัฒนายังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร จึงได้ดำเนินการพัฒนาในวงรอบที่ 2 ผลการพัฒนา พบว่า ผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเพิ่มมากขึ้น อยู่ในระดับความเหมาะสมมาก มีค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 4.38 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 87.60 และในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ผู้ร่วมวิจัยมีพฤติกรรมในการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับดี โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 4.48 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 89.60
โดยสรุป การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยใช้การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ทำให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานได้ ควรมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน เพื่อให้ครูเกิดความมั่นใจว่าการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานสามารถนำไปใช้ได้ทุกรายวิชา และจะทำให้การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเกิดขึ้นได้ทุกรายวิชา และผู้เรียนจะได้พัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามจุดมุ่งหมายของโรงเรียนที่ต้องการต่อไป