การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสือส่งเสริมฯ
การใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
ชื่อผู้รายงาน นางสาวปราณปวีณ์ คุ้มบ้าน
ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (วิทยานารี) อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ปีการศึกษา ๒๕๖๐
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ๘๐/๘๐ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก่อนและหลังการใช้หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม ประชากร
ที่ใช้ในการศึกษาคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเทศบาล ๑ (วิทยานารี) อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จำนวน ๑ ห้องเรียน รวมประชากร จำนวน ๓๐ คน ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ ๑) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม จำนวน ๒๒ แผน ๒) หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษา ไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม จำนวน ๙ เล่ม ๓) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย จำนวน ๒๐ ข้อ และ ๔) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม จำนวน ๑๐ ข้อ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t-test
ผลการศึกษาพบว่า หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ และวรรณกรรม มีประสิทธิภาพเท่ากับ ๘๖.๖๗/๘๔.๔๒ สูงกว่าเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่กำหนดไว้ ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก่อนและหลังจากการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม มีค่า t-test เท่ากับ ๓๐.๓๕ ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ .๐๑ แสดงว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนและนักเรียนมีความคิดเห็นด้านบวกต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยจากบทเพลงพระราชนิพนธ์และวรรณกรรม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ย
เท่ากับ ๔.๖๗ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ ๐.๘๑