การเปรียบเทียบความรู้ ทักษะปฏิบัติ และความคิดสร้างสรรค์นาฏศิลป์
ผู้รายงาน : นางดวงจิต เกียรติพัฒนกุล
ที่ปรึกษา : นางสาวนวรัตน์ ศรีทองดีประพันธ์
ปีที่รายงาน : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะปฏิบัติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ 3) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเทศบาล 3 ชุมชนวัดจันทราวาส สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จากห้องเรียนตามสภาพจริง 2 ห้องเรียน จำนวน 77 คน จับฉลากเป็นกลุ่มทดลองที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ 1 ห้องเรียนจำนวน 39 คน และกลุ่มควบคุมที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้ แบบปกติ 1 ห้องเรียน จำนวน 38 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง 20 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ แผนการจัดการเรียนรู้แบบปกติ แบบทดสอบวัดความรู้ แบบประเมินทักษะปฏิบัติ และแบบประเมินความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าสถิติทดสอบ t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณ (MANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีความรู้หลังทดลองสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีทักษะปฏิบัติ สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะในการวิจัย
การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะปฏิบัติ และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนสูงขึ้น ครูผู้สอนควรนำการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ไปร่วมใช้ในการพิจารณากำหนดนโยบายและวางแผนงานวิชาการ ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสถานศึกษา และนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะในมาตรฐานอื่นๆ รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาอื่น เช่น ศิลปะ ดนตรี การงานอาชีพ และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มอย่างทั่วถึงกันและผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ในการแสดงบทบาทของตนเอง จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียน เกิดความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข