ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education)
เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์
และความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล)
ผู้วิจัย นางซารานี หะยีเจะเฮง
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล)
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพ (E1/E2) ตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (Stem Education) และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (Stem Education) เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) สำนักการศึกษาเทศบาลเมืองนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ที่ได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่มจำนวนหนึ่งห้องเรียน จำนวนนักเรียน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ ที่มีขั้นตอนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน จำนวน 5แผน ใช้เวลา 20 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM education) เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) 5 ระดับ ของ Likert (Likert Scale) จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ
การทดสอบที แบบกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน
ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) ที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.56/83.78 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้
2. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา เรื่อง ระบบร่างกายของมนุษย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลัง
การจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลังการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับความพึงพอใจมาก