การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระที่ 4
ขอนแก่น: โรงเรียนขามแก่นนคร
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs) 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้ผู้เรียนอย่างน้อยร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs)
กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 โรงเรียนขามแก่นนคร ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติจริง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs) จำนวน 15 แผน เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ แบบประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้รายบุคคล แบบประเมินผลการทำกิจกรรมกลุ่ม แบบประเมินผลงานและสะท้อนผล แบบบันทึกการสัมภาษณ์นักเรียน และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการสอน ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และแบบสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการแจกแจงข้อค้นพบที่สำคัญในเชิงอธิบายความหมาย
ผลการวิจัย พบว่า กิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs) ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1) ขั้นการเรียนรู้ตั้งคำถาม (learning to Question) ครูจะนำเสนอปัญหา ภาพ สถานการณ์ คลิปวีดีโอกรณีตัวอย่างเพื่อให้นักเรียนได้รับรู้ถึงปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหา เพื่อสร้างความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า ความสำคัญ และประโยชน์ของสิ่งที่จะเรียน 2) ขั้นการเรียนรู้แสวงหาสารสนเทศ (Learning to Search) ครูจัดหาสื่อ และแหล่งเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้แสวงหาความรู้หรือข้อมูลจากสื่อ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายภายในโรงเรียน 3) ขั้นการเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ (Learning to Construct) เน้นให้นักเรียนนำข้อมูลหรือค้นพบที่ได้จากการแสวงหาความรู้ที่ได้มาสรุปความคิดรวบยอดเพื่อเป็นคำตอบของปัญหาที่ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้อย่างเหมาะสม 4) ขั้นการเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร (Learning to Communicate) เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผ่านตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอคำตอบของปัญหาที่ได้รับ และอภิปรายร่วมกันระหว่างกลุ่ม ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละบุคคล 5) ขั้นการเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม (Learning to Service) เน้นให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ มาจัดทำเป็นสื่อหรือชิ้นงานตามความถนัด และความสนใจของกลุ่ม เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจด้วยวิธีการที่หลากหลาย และครูจัดเตรียมโอกาสให้นักเรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน
การนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้วิธีการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs)มาใช้ในการสอน 3 วงจร ทำให้นักเรียนมีการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย สูงขึ้น โดยวงจรที่ 1 มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 76.33 วงจรที่ 2 มีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 79.33 และวงจรที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 83.33 นักเรียนร้อยละ 90.00 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป โดยนักเรียนทั้งชั้นมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 77.78 คะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผ่านการเรียนวิชาภาษาไทย สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs) มีความคิดเห็นต่อตัวบ่งชี้บทบาทในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs) ทั้งด้านผู้เรียนและด้านผู้สอน อยู่ในระดับมากทุกตัวบ่งชี้ โดยในด้านผู้เรียน บทบาทและพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกมากที่สุด คือ นักเรียนได้นำเสนอแนวคิดอย่างอิสระ คิดเป็นร้อยละ 92.00 ส่วนด้านผู้สอน บทบาทและพฤติกรรมที่ผู้สอนแสดงออกมากที่สุด คือ ครูเตรียมสถานการณ์ที่นักเรียนได้ค้นคว้า สืบเสาะ รวบรวมข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 90.00