ผลงานวิชาการ การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
(อนุบาลอัจฉริยะ) เทศบาลเมืองคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ผู้วิจัย นางสาวชุติมา บิญรัตน์
ปีที่วิจัย 2560
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล ๑ (อนุบาลอัจฉริยะ) 2) เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล ๑ (อนุบาลอัจฉริยะ) 3) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล ๑ (อนุบาลอัจฉริยะ) กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ใช้ในการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 123 คน กลุ่มที่ 2 ใช้ในการดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือการดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 25 คน และกลุ่มที่ 3 ใช้ในการสนทนากลุ่ม จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระยะที่ 1 คือ แบบสอบถามเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ระยะที่ 2 คือ แบบสอบถามการยอมรับและความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามคู่มือดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาไปสู่การปฏิบัติ และระยะที่ 3 ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ดำเนินประเมินความสามารถของผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการดำเนินการตามคู่มือดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และการรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม
ผลการวิจัย พบว่า
1. ในระยะที่ 1 การดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย โดยการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด มีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง และจัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีการปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย ปัญหาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล ๑ (อนุบาลอัจฉริยะ) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยการจัดระบบบริหารและสารสนเทศ มีปัญหาอยู่ในระดับมาก และจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง
2. ผลการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือการดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยมีผลการวิเคราะห์ข้อมูลการยอมรับและความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามคู่มือไปสู่การปฏิบัติ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
3.1 ผลการประเมินความสามารถทางการเรียนของผู้เรียน ระดับปฐมวัยมีพัฒนาการของผู้เรียนอยู่ในระดับดีทั้งรายด้านและในภาพรวม ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีสมรรถนะด้านการสื่อสารสูงสุด และมีสมรรถนะด้านการแก้ปัญหาต่ำสุด นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีสมรรถนะด้านการใช้ทักษะชีวิตสูงสุด และมีสมรรถนะด้านการใช้เทคโนโลยีต่ำสุด
3.2 ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 92.69 ค่าเฉลี่ยตามมาตรฐานเท่ากับ 4.82 มีคุณภาพระดับดีเยี่ยม ส่วนมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 94.51 ค่าเฉลี่ยตามมาตรฐานเท่ากับ 4.94 มีคุณภาพระดับดีเยี่ยม ผลการรับรองคุณภาพการศึกษา ได้มาตรฐานคุณภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.3 ความพึงพอใจต่อการดำเนินการตามคู่มือดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยแนวทางการประเมินรายมาตรฐานมีความชัดเจนเข้าใจง่าย มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับมาก และรูปแบบคู่มือการดำเนินงานมีความน่าสนใจ น่าอ่าน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในระดับมาก
3.4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ สรุปได้ว่า ก่อนการเริ่มดำเนินการระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษายังมีความพร้อมด้านต่างๆ น้อยมาก ยังไม่มีแนวทางในการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการศึกษา โรงเรียนจึงได้ประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน และได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โรงเรียนได้มีการจัดระบบการบริหารและการจัดการสารสนเทศที่เป็นระบบ มีการกระจายอำนาจในการทำงาน มีผู้รับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา โดยพิจารณาตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ โรงเรียนได้มีการดำเนินการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาครอบคลุมมาตรฐานทั้งทางด้านปัจจัย กระบวนการและผลผลิต แล้วนำไปเขียนเป็นรายงานการประเมินคุณภาพ ก่อนรายงานต่อต้นสังกัด โรงเรียนได้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยการนำผลการประเมินมาวิเคราะห์ทั้งด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ และปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้รับส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาต่างมีความพึงพอใจและชื่นชม เนื่องจากทุกคนได้มีโอกาสแสดงบทบาทตามหน้าที่ของตน