การพัฒนากิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อผู้วิจัย นางพจมาน ชูสง โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ปีที่ดำเนินการ 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพของกิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องสิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการคิด ก่อนและหลังการใช้กิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (3) เพื่อศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง หลังจากเรียนจบแล้ว 2 เดือน เทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 70 และ (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อกิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จำนวน 179 คน รวม 5 ห้องเรียน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยการจับฉลากโดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) กิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 6 เรื่อง (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์แบบปรนัย 4 ตัวเลือกจำนวน 30 ข้อ (3) แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 12 แผน เวลา 11 ชั่วโมง (4) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 10 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t – test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพของกิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง มีประสิทธิภาพโดยรวม เท่ากับ 87.17/ 88.83 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการคิด โดยใช้กิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องสิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 คะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความคงทนในการเรียนรู้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง มีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนจบแล้ว 2 เดือน ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75.21 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือร้อยละ70
4. ระดับความพึงพอใจที่มีต่อกิจกรรมถอดบทเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง สิ่งแวดล้อมดีวิถีพอเพียง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมนักเรียนพึงพอใจในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.30 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า นักเรียนพึงพอใจมากเป็นอันดับ 1 คือด้านการวัดผลและพัฒนาทักษะการคิด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.62 ระดับมากที่สุด รองลงมาคือด้านการพัฒนาคุณธรรมและการนำเสนอ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.28 ระดับมาก และนักเรียนพึงพอใจมากเป็นลำดับสุดท้ายคือด้านบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.23 ระดับมาก