การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบบูรณาการ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ
ผู้ศึกษา : บัณฑิต เรืองสุทธิ์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ชำนาญการ สังกัดโรงเรียนบ้านหนองแซง
อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 2
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ ในด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ
กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบ้านหนองแซง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 23 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ คู่มือครู แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ จำนวน 14 แผน ใช้เวลาทดลองจำนวน 14 ชั่วโมง และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ จำนวน 3 ชุด 2) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ เป็นแบบทดสอบท้ายชุดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 3 ชุดๆละ 15 ข้อ รวมทั้งสิ้น 45 ข้อ ด้านทักษะ เป็นแบบทดสอบวัดด้านทักษะ ตามมาตรวัดประมาณค่า 4 ระดับ จำนวน 3 ชุด และด้านเจตคติ เป็นแบบทดสอบวัดด้านเจตคติ ตามมาตรวัดประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 3 ชุดๆละ 10 ข้อ รวมทั้งสิ้น 30 ข้อ และแบบทดสอบวัด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้ จากการทดลองพบว่า นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ได้ค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 84.71/83.77
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบบูรณาการ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (คะแนนเฉลี่ย 25.13 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 83.77) สูงกว่าก่อนเรียน (คะแนนเฉลี่ย 13.43 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 44.78)