การพัฒนาศักยภาพครูในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนอน
โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ จังหวัดพะเยา
ผู้วิจัย นายพีรศิษฐ์ เผ่าต๊ะใจ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ
โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลบ้านถ้ำ
อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
ปีที่วิจัย 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาศักยภาพครูในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ จังหวัดพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ จังหวัดพะเยาให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยได้ โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ 2 วงจร (Spiral) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย 5 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 1 คน และครู จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งหมด 9 ฉบับ ได้แก่ แบบทดสอบก่อนและหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบสังเกตพฤติกรรมของครู แบบประเมินแผนการจัดประสบการณ์ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบประเมินความพร้อมในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation Technique) การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเชิงปริมาณ จากแบบสังเกตพฤติกรรมของครูระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบประเมินแผนการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัย แบบประเมินความพร้อมในการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และค่าร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบคุณภาพข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation) สรุปเป็นประเด็นและนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการสรุปอภิปรายผล ให้ข้อเสนอแนะ วิเคราะห์ข้อมูล โดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้พัฒนาศักยภาพครูโดยการอบรมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ กับการนิเทศแบบกัลยาณมิตร สรุปผลการวิจัย ดังนี้
การวิจัยการพัฒนาบุคลากรในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ จังหวัดพะเยา ตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการโดยดำเนินการพัฒนา 2 วงจร ผลจากการดำเนินการพัฒนาในวงจรที่ 1 โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ ให้ผู้ร่วมวิจัยจำนวน 4 คน ผลปรากฏว่า ผู้ร่วมวิจัย 3 คน มีความรู้ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย สามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์ตามกรอบการจัดกิจกรรมประจำวัน 6 กิจกรรม ไปใช้จัดประสบการณ์ในชั้นเรียนได้ ส่วนผู้ร่วมวิจัยอีก 1 คน ยังไม่สามารถนำแผนการจัดประสบการณ์ที่เขียนไปใช้ในการจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนได้ ผลจากการดำเนินการพัฒนา วงจรที่ 2 ได้แก่ การนิเทศแบบกัลยาณมิตร เพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 1 คน สามารถนำแผนการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยที่เขียนไว้ไปใช้จัดประสบการณ์ได้จริงในชั้นเรียนได้ ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยได้ร่วมกันนิเทศแบบกัลยาณมิตรกับเพื่อนครูแบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความมั่นใจ และให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยในชั้นเรียนได้ หลังการพัฒนาพบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 1 คน สามารถจัดประสบการณ์ได้เป็นที่น่าพอใจทั้ง 6 กิจกรรม
สรุปผลดำเนินการพัฒนาศักยภาพครูในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ก่อนการพัฒนา ครูขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ไม่สามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ตามกรอบการจัดกิจกรรมประจำวัน 6 กิจกรรม ไปใช้ในจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนได้ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้พัฒนาโดยการอบรมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ กับการนิเทศแบบกัลยาณมิตร หลังการดำเนินการพัฒนาทั้ง 2 วงจร พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ทั้ง 4 คน มีความรู้ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย สามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ตามกรอบการจัดกิจกรรมประจำวัน 6 กิจกรรม ไปใช้ในจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี