การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการแสดงทาง
วิทยาศาสตร์ (Science Show)
ผู้วิจัย นางศิลารัตน์ สุริยวงศ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ สพม. 28
ปีที่ทำการวิจัย 2560
บทคัดย่อ
ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพัฒนาเจตคติในเชิงบวกต่อการเรียน รายวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2560 รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยใช้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียวมีการทดลองก่อนเรียนและหลังเรียน เครื่องมือที่ใช้วิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) รายวิชา วิทยาศาสตร์ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามเพื่อวัดเจตคติในเชิงบวกของนักเรียนที่มีต่อรายวิชา วิทยาศาสตร์ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง โดยใช้กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้มาหาประสิทธิภาพ นำคะแนนผลการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน มาวิเคราะห์ค่าสถิติเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และสอบถามเจตคติติ่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์หลังจากการเรียนรู้ นำข้อมูลมาหาอค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ผลการวิจัยพบว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) ทำให้นักเรียนมีความสนใจกระตือรือร้นในการเรียนรู้ นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน นักเรียน ได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ผลการศึกษาทำให้ได้แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) รายวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง โลกและการเปลี่ยนแปลง ที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ ร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม และนักเรียนผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด จำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 100 ของนักเรียนทั้งหมด นักเรียนมีเจตคติในเชิงบวกต่อการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ
อยู่ในระดับมาก (ระดับ 4) ขึ้นไป และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 100 ของนักเรียนทั้งหมด