รายงานการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
ผู้นำเสนอ นางสาวศรัญญา เก่งกล้า ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
หน่วยงานที่สังกัด โรงเรียนบ้านแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกาเย่ (Gange Teaching Model) เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนก่อนและหลังเรียนรู้โดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกาเย่ (Gange Teaching Model) เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา 3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
แบบกาเย่ (Gange Teaching Model)
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 8 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ รูปแบบการวิจัยแบบ One Group Pretest – Posttest Design ใช้ระยะเวลาทดลอง 20 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกาเย่ (Gange Teaching Model) เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยาก-ง่ายระหว่าง 0.24 – 0.88 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.21 – 0.74 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในครั้งนี้ ใช้เกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า 80/80 วิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียน จากการหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้ค่า t-test ในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
ผลการวิจัยพบว่า
1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกาเย่ (Gange Teaching Model) เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา มีประสิทธิภาพ 87.75/85.62 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่อง คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกาเย่ (Gange Teaching Model) โดยพิจารณาทั้งภาพรวมและเป็นรายด้านนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก