ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิตส์ เรื่องการบวก กา
เรื่อง ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิตส์ เรื่องการบวก การลบ การคูณ
ทศนิยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย จันทร์เพ็ญ คุ้มพร้อม
ปีการศึกษา 2556
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เรียนโดยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน 2) หาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิส 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ 4) ศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง สำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง สำนักงานเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 38 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เพราะกลุ่มตัวอย่างแต่ละห้องมีคุณสมบัติเหมือนกัน คือจัดห้องเรียนแบบคละชั้น มีจำนวนนักเรียนและความสามารถทางการเรียนใกล้เคียงกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ แบบทดสอบ วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ 0.53-0.77 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.27-0.47 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ลักษณะเป็น มาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ตั้งแต่ 2.14-7.00 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติทดสอบที
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากการเรียนโดยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่องการบวก การลบ การคูณทศนิยม มีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ค่าดัชนีประสิทธิผล โดยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่องการบวก การลบ การคูณทศนิยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.6606 หรือคิดเป็นร้อยละ 66.06 สูงกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คือ 0.50 หรือร้อยละ 50 ขึ้นไป แสดงว่าการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎี คอนสตรัคติวิสต์ เรื่องการบวก การลบ การคูณทศนิยม มีประสิทธิผลช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก
4. ความคงทนในการเรียนรู้จากการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การบวก การลบ การคูณทศนิยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ไม่ต่างกัน แสดงว่านักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้