การพัฒนาการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น
เรื่อง การพัฒนาการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์
และสัตว์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้ศึกษา ว่าที่ร้อยตรีหญิงชญาภา จิตต์ดี ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มัธยมศึกษา เขต 17
ปีที่ศึกษา 2559
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ ศึกษาประสิทธิผล และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อ
การจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์และสัตว์
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เครื่องมือในการศึกษา ได้แก่ (1) ชุดการเรียนรู้ จำนวน 10 ชุด คือ การจัดระบบในร่างกาย ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท ความสัมพันธ์ของระบบร่างกาย พฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และเทคโนโลยีชีวภาพกับการปรับปรุงพันธุ์ (2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน (ไม่รวมแผนการปฐมนิเทศ) เวลาเรียน 20 ชั่วโมง และ (3) เครื่องมือวัดผลและประเมินผล ได้แก่ แบบทดสอบย่อย 10 ฉบับ รวม 100 ข้อ แบบทดสอบประจำหน่วย
40 ข้อ และแบบสอบถามนักเรียน จำนวน 20 ข้อ ที่นำมาใช้กับนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ปีการศึกษา 2559 จำนวน 28 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่มมา หนึ่งห้องเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ ค่าประสิทธิผล และทดสอบ t ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์และสัตว์ มีประสิทธิภาพเฉลี่ยรวมเท่ากับ 85.14/84.02 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2.ค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น โดยใช้ชุดการเรียนรู้
เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์และสัตว์ เท่ากับ 0.7360 แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.60 สูงกว่าเกณฑ์ 50
3. นักเรียนที่ได้รับการเรียนการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น โดยใช้ชุดการเรียนรู้
เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์และสัตว์ มีผลสัมฤทธิ์หลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักร 5 ขั้น โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่องระบบร่างกายมนุษย์และสัตว์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x-bar
= 4.54 ; S.D. = 0.29) รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ชอบขั้นสำรวจที่มีการวางแผน ลงมือปฏิบัติ และศึกษาแหล่งอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป (x-bar
= 4.67 ; S.D. = 0.28) รองลงมา คือขั้นอธิบายที่ได้นำข้อมูลหรือสาระมาวิเคราะห์ อภิปราย สรุปที่ได้สาระ หรือนำเสนอหน้าชั้นเรียน (x-bar
= 4.62 ; S.D. = 0.32)