ผลของการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับชุดแบบฝึกทักษะที่ม
ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานกับภาษาถิ่นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย นางสาวพัชราภรณ์ เรืองศรี
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานกับภาษาถิ่นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังเรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับชุดแบบฝึกทักษะ (2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับชุดแบบฝึกทักษะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 /6 ที่กำลังศึกษาอยู่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านหาดใหญ่) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 38 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่ายด้วยการจับสลาก โดยใช้ห้องเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา จำนวน 4 แผน (2) ชุดแบบฝึกทักษะ จำนวน 4 ชุด (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานกับภาษาถิ่น แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก เป็นฉบับก่อนเรียนจำนวน 30 ข้อ และฉบับหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ และ(4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับชุดแบบฝึกทักษะ จำนวน 10 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดย หาค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบค่าที (t-test แบบ Dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้เรื่องการเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานกับภาษาถิ่นโดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับชุดแบบฝึกทักษะมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาร่วมกับชุดแบบฝึกทักษะอยู่ในระดับมากโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.30