นายพงศา ชูแนม การจัดการชุมชนป่าต้นน้ำ ตามแนวทาง “คนอยู่-ป่ายัง”
ชื่อ นายพงศา ชูแนม อายุ 35 ปี ตำแหน่งหน้าที่ : หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
นายพงศาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรระหว่างรัฐ กับชาวบ้านในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำหลังสวนด้วยสันติวิธี โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการจัดการทรัพยากร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน ว่าเขาสามารถมีสุขภาพชีวิตที่ดี มีจิตสำนึก และเชื่อมั่นศักยภาพของตนในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า
ในปี พ.ศ. 2533 นายพงศาเริ่มปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่า หน้าที่หลักของเขาคือ การปราบปรามชาวบ้านที่บุกรุกป่าเพื่อถางไร่ ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 เขาได้เปลี่ยนแนวทางการทำงาน จากการจับกุมเป็นการพูดคุย ด้วยต้องพิสูจน์ความเชื่อที่ว่า เจ้าหน้าที่น่าจะสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านได้
ในปีพ.ศ. 2535 นายพงศาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำ พะโต๊ะ และแปลแนวความคิด “คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด” สู่รูปธรรมของกิจการด้านต่างๆ ทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ในนามของโครงการ “คนอยู่-ป่ายัง” เพื่อแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่า ยังมีทางเลือกในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อxxxลกัน ชาวบ้านเริ่มเป็นมิตรกับข้าราชการที่ทำงานรักษาป่า นายพงศาจึงสามารถเป็นแกนนำประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับข้าราชการป่าไม้
โครงการ “คนอยู่-ป่ายัง” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2536 โดยหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำหลังสวน 73,900 ไร่ มีชุมชนที่อาศัยในเขตป่า 12 หมู่บ้าน ในระยะแรกมีหมู่บ้านเป้าหมาย 2 หมู่บ้าน คือ บ้านคลองเรือ และบ้านหลักเหล็ก
ประปาภูเขา นับเป็นกุศโลบายอันแยบยลของนายพงศาในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ หากไม่มีการดูแลรักษาไว้ ชุมชนจะขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร นอกจากนั้น ชุมชนได้ตั้งกฎกติกาแบ่งปันปริมาณน้ำตามความเหมาะสมและยุติธรรมก่อให้เกิดเครือข่ายดูแลป่าเหนือจุดต่อประปาภูเขา
กลุ่มออมทรัพย์ จัดตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2539 เพื่อให้เป็น “ธนาคารของหมู่บ้าน” ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน
โครงการ “เด็กนักเรียนต้นน้ำ” เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2535 นายพงศาได้ร่วมกับชุมชนและผู้มีศรัทธา สร้างบ้านพักให้เด็กจากในหมู่บ้านในป่าห่างไกลให้มาอยู่ร่วมกัน โครงการนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีเด็กนักเรียนประมาณปีละ 20-30 คน
ป่าสมุนไพรประจำหมู่บ้าน พื้นที่ 1,200 ไร่ และพื้นที่ป่าสมุนไพรในหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ มีการจัดสัมมนาภูมิปัญญาชาวบ้านด้านสมุนไพรในปีพ.ศ. 2538 โดยเชิญนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันศึกษาป่าสมุนไพรซึ่งจะเอื้อประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย และการนำไปใช้
การศึกษาป่าผักพื้นบ้าน และจัดทำแหล่งผักป่าพื้นบ้านอาหารชุมชนชาวบกไฟและกลุ่มเก็บผักป่าพื้นป่า พื้นที่ 400 ไร่ ที่บ้านบกไฟ หมู่ 3 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จัดเป็นพื้นที่สำหรับเก็บหาของป่าและสมุนไพรหรือ FOOD BANK ของชาวบ้าน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า และสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน จากการสำรวจรายได้จากการหาของป่าจากชาวบ้าน 37 ราย ปรากฏว่าชาวบ้านมีรายได้ถึง 624 ,667 บาท ต่อปี ในปีพ.ศ. 2542 ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กรเพื่อปลูกเสริมพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดในพื้นที่
ปัจจุบันสภาพป่าต้นน้ำในเขตพื้นที่ทำงานมีความอุดมสมบูรณ์มาก ต่างจากก่อนหน้าที่นายพงศาจะเข้ามาทำงาน ตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัด คือ พันธุ์พืช และสัตว์ป่าแทบทุกชนิด ทางหน่วยฯ และชุมชนมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย เขตทำกิน แต่อนุญาตให้เก็บของป่าได้ แนวเขตดังกล่าวมาจากการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน นอกจากนั้นชาวบ้านยังร่วมชี้เบาะแส เพื่อให้เจ้าที่จับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งในระยะเริ่มต้นของโครงการได้ถูกขัดขวางจากผู้ลุกลอบ นักการเมือง และข้าราชการในท้องถิ่นอย่างมาก
แนวคิดที่ได้
การร่วมมือกันหันหน้าคุยกันของคนในภาครัฐกับชาวบ้านในพื้นที่สามารถสร้างการอนุรักษ์ที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้ ดังเช่นความพยายามของ นายพงศา
ผลงาน : โครงการ “คนอยู่-ป่ายัง”
- สามารถพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่าคนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ป่ากับการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างครบวงจร
- เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
- ดูแลปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำหลังสวน จำนวน 73,900 ไร่
- แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรมป่าไม้กับราษฎร
- แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ป่าใช้สอย ป่าแก่อย่างชัดเจน
- ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต จากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน
- กำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ห้ามซื้อขาย ให้บุคคลภายนอก นอกจากเครือญาติ
- ส่งเสริมการทำประปาภูเขา ก่อให้เกิดเครือข่ายรักษ์ป่า
- จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์
- ริเริ่มให้จัดพื้นที่ 400 ไร่เป็นพื้นที่หาของป่าและสมุนไพร
- โครงการ “เด็กนักเรียนต้นน้ำ” โดยใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง
- หลักสูตรอบรมเยาวชน “การศึกษาระบบนิเวศต้นน้ำ”
- ให้ความสำคัญต่อการวิจัย การสัมมนา การศึกษา การเรียนรู้
- กิจกรรมในโครงการฯ ขยายสู่คนทุกระดับของชุมชน
- โครงการฯ เริ่มต้นด้วยการพึ่งพาตนเอง ก่อนมีงบประมาณ สนับสนุน
- ก่อให้เกิดเครือข่าย “กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำหลังสวน” เชื่อมโยง กับเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ และองค์กรป่าชุมชนในจังหวัดชุมพร