การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ลำดับและอนุกรม
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้โมเดลซิปปา (CIPPA Model)
ผู้รายงาน ปิยลักษณ์ ยุทธอาสา
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้โมเดลซิปปา (CIPPA Model) 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่องลำดับและอนุกรม กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนโรงเรียนปางศิลาทองศึกษา ปีการศึกษา 2560 จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลซิปปา (CIPPA Model) เรื่องลำดับและอนุกรม จำนวน 13 แผน และแบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องลำดับและอนุกรม จำนวน 6 เล่ม 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกผลหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการทำงานและประเมินผลงานกลุ่ม และแบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ดำเนินการตามหลักของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นวางแผน 2) ขั้นปฏิบัติการ 3) ขั้นสังเกตการณ์ และ 4) ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติ โดยแบ่งวงจรการปฏิบัติเป็น 3 วงจร คือวงจรที่ 1 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 – 5 วงจรที่ 2 ประกอบ ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 6 – 10 วงจรที่ 3 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 11-13 ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย คือวางแผน ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยร่วมกันศึกษาสภาพปัญหา ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและสร้างแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลซิปปา (CIPPA Model) ขั้นปฏิบัติการผู้วิจัยดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นสังเกตการณ์ ครูผู้ช่วยวิจัยสังเกตรวบรวมข้อมูลจากการเรียนการสอน โดยใช้แบบบันทึกการสอนขณะสอนของครู และแบบบันทึกการเรียนระหว่างเรียน
ผลการวิจัย พบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้โมเดลซิปปา (CIPPA Model) พบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โมเดลซิปปา (CIPPA Model) เป็นกิจกรรมที่นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้สามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มเพื่อนจนเกิดทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสรุปได้ว่ารูปแบบการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โมเดลซิปปา (CIPPA Model) เป็นรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ 1) ขั้นทบทวนความรู้เดิม เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้ที่เคยเรียนหรือมีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว นักเรียนจะต้องตอบคำถามหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กำหนด 2) ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ กิจกรรมในขั้นนี้นักเรียนได้แสวงหาความรู้ จากสถานการณ์ปัญหาที่ครูสร้างขึ้นจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมให้เข้ากับความรู้ใหม่ 3) ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในกลุ่ม กิจกรรมในขั้นนี้แต่ละกลุ่มได้รับเอกสารประกอบการเรียนรู้ ประกอบด้วย บัตรคำสั่ง ใบความรู้ ใบงานกิจกรรมกลุ่ม และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยนำความรู้ที่ค้นพบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกในกลุ่ม จัดทำผลงานกลุ่มให้มีคุณภาพและสร้างสรรค์ 4) ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ นักเรียนได้สรุปหรือสร้างความคิดรวบยอดเกี่ยวกับความรู้จากเรื่องที่เรียน ครูช่วยสรุปจัดระเบียบความรู้ของนักเรียนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น 5) ขั้นแสดงผลงาน ตัวแทนนำเสนอผลงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนในชั้นเรียน จากนั้นร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็นและสรุปความรู้ร่วมกันอีกครั้ง แล้วนำผลงานกลุ่มไปปรับปรุงแก้ไขจนสมบูรณ์ จัดตกแต่งผลงานให้สวยงามตามความคิดสร้างสรรค์ พร้อมนำไปจัดแสดงบนป้ายนิเทศหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จเรียบร้อยหรือในชั่วโมงว่าง เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา เปรียบเทียบ ประเมินผลงานกลุ่มของตนกับกลุ่มอื่น และนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขผลงานของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป 6) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นนี้นักเรียนทำแบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ที่ครูจัดทำขึ้น เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียน และให้นักเรียนทำเป็นการบ้าน แล้วนำมาส่งครูก่อนเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันในวันถัดไป
2. ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนได้คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 80.71 ของคะแนนเต็ม และมีจำนวนนักเรียน ผ่านเกณฑ์จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 88.57 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป